บันทึกการเดินทางเมื่อไป เอเธนส์ กรีซ: พระพุทธรูป จีวร มิลินทปัญหา ม้าไม้เมืองทรอย และเพลโต โสเครตีส อริสโตเติล

0
15197

บันทึกการเดินทางเมื่อไป เอเธนส์ กรีซ: พระพุทธรูป จีวร มิลินทปัญหา
ม้าไม้เมืองทรอย และเพลโต โสเครตีส อริสโตเติล
Writing Journey of Visiting Athens in Greece: Buddha Statue, Robes,     the Milinda Pañha, Trojan Horse and Plato-Socrates-Aristotle

ดร.ลำพอง กลมกูล Dr.Lampong Klomkul
ผู้อำนวยการส่วนวิจัย สารสนเทศและบริการวิชาการ
Director for Research, Information and Academic Services Division
ศูนย์อาเซียนศึกษา มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย
ASEAN Studies Center, Mahachulalongkornrajavidyalaya University
Email: research.mcu@gmail.com

บทคัดย่อ

          สืบเนื่องจากได้เดินทางไปยังกรุงเอเธนส์ ประเทศกรีซ เพื่อเข้าร่วมนำเสนอผลงานวิชาการ และผลงานวิจัยในงานสัมมนานาชาติ และเห็นว่ากรีก มีพัฒนาการทางประวัติศาสตร์มาอย่างยาวนาน ทั้งองค์ความรู้เกี่ยวข้องกับการเรียนการสอนในสาขารัฐศาสตร์ การเมืองการปกครอง มีนักคิดนักเขียนร่วมสมัยอย่าง โสเครตีส  เพลโต อริสโตเติล เป็นบุคคลที่คาบเกี่ยวร่วมสมัยกับพระพุทธเจ้า ที่ยังคงมีอิทธิพลต่อนักคิด นักเขียน และนักรัฐศาสตร์ การปกครองทั่วโลก และที่สำคัญสำหรับชาวพุทธ มีหลักฐานว่าพัฒนาการของพระพุทธรูป มีจุดกำเนิดจากการปั้นเทพเจ้าในความเชื่อแบบกรีกโบราณ และพัฒนาไปสู่อินเดียกลายเป็นรูปเคารพและพระพุทธรูปในปัจจุบัน มิลินทปัญหามีที่มาจากพระยามิลินท์ ก็มีหลักฐานว่าเป็นกษัตริย์กรีก ในฐานะเจ้าผู้ครองแคว้นประเทศราชในอินเดียและหันมานับถือพระพุทธศาสนา ด้วยสนทนาธรรมกับพระนาคเสน จนเป็นที่มาของวรรณกรรมมิลินทปัญหาที่โดดเด่นและจดจำของชาวพุทธและผู้ศึกษาพระพุทธศาสนาจากทั่วโลก รูปแบบการครองจีวรของพระในพระพุทธศาสนา ก็มีประวัติความเชื่อมโยงกับกรีก เมื่อเดินทางไปจึงนำมาบันทึกเล่าแบ่งปันเป็นองค์ความรู้ด้านอาณาบริเวณศึกษาในบันทึกนี้

คำสำคัญ: พระพุทธรูป, มิลินทปัญหา, เอเธนส์, กรีซ, กรีกโบราณ

Abstract

          According to a visiting Athens in Greece for presenting in academic and research papers at international conference, Greek has been found that has a long historical development and related to the teaching and learning in political science, politics and government. There are philosophers who contemporary writers like Plato, Socrates, Aristotle, and who were contemporary people with the Lord Buddha that still have an influence on thinkers, writers and political scientists domination around the world especially important for Buddhists. There is evidence that the development of the Buddha statue originated from the deity in ancient Greek beliefs and developed into India that currently becoming a statue and Buddha image. Milinda Pañha had originated from King Milinda which has been shown the evidence that he was being the king as the ruler of the country in India and turns to Buddhist. He used to have a conversation with Phra Nāgasena until becoming a literature called “Milinda Pañha”, the outstanding and memorable problems of Buddhists and Buddhist students from around the world. The style of wearing robes of Buddhist monks has also had the connection with Greek history. Therefore, when the writer has the opportunity to visit Greece, this journal is written for knowledge sharing through the technique of area studies. 

Keywords: Buddha Statue, The Milinda Pañha, Athens, Greece, Ancient Greek

 

บทเริ่ม

              บันทึกนี้เขียนขึ้นจากประสบการณ์การเดินทางในการเข้าร่วมนำเสนอผลงานวิชาการในงานสัมมนาวิชาการนานาชาติ และจากประสบการณ์นั้นทำให้ได้การเรียนรู้เชิงพื้นที่จากประเทศปลายทางของการเดินทางเข้าร่วมนำเสนอผลงานวิจัยในการประชุมวิชาการระดับนานาชาติครั้งที่ 25 (The Twenty-Fifth International Conference on Learning) โดยได้ส่งผลงานเข้าร่วมนำเสนอ จำนวน 3 เรื่อง ได้แก่ “Educational Management in Past and Present in ASEAN Community, Trends of Educational Management for Unity and Peace of Countries in ASEAN Community, and A Model of Leadership Development for Learning Organization of Universities in Thailand” สถานที่ คือ University of Athens เมือง Athens ประเทศกรีซ ในระหว่างวันที่ 20–25 มิถุนายน 2561  บันทึกนี้จึงเป็นบันทึกการเดินทาง สะท้อนคิดผ่านสิ่งที่พบเห็นเป็นการเล่าเรื่องพร้อมเชื่อมโยงกับพระพุทธศาสนาหรือประเด็นเกี่ยวข้องทางพระพุทธศาสนา

              ในข้อเท็จจริง เรารับทราบถึงอารยธรรมกรีกเริ่มขึ้นเมื่อประมาณ 750 ปีก่อนคริสตศักราช มีศูนย์กลางอยู่ที่กรุงเอเธนส์ (Athens) เมืองหลวงของประเทศกรีซในปัจจุบัน เป็นอารยธรรมที่เจริญรุ่งเรืองและมีอิทธิพลต่อโลกตะวันตก ชาวกรีกเรียกตัวเองว่า “เฮลลีน” (Hellene) เป็นพวกอินโด-ยูโรเปียน ที่สำคัญได้แก่ พวกไอโอเนียน (Ionians) และพวกไมซีเนียน (Mycenaeans) นครรัฐของกรีก ภาคเหนือ ได้แก่ แคว้นมาซิโดเนีย (Macedonia) เทสซาลี (Thessaly) และอิไพรัส (Epirus) ภาคกลาง ได้แก่ บริเวณที่เป็นเนินเขาสูง เป็นที่ตั้งของ นครทีบส์ (Thebes) นครเดลฟี (Delphi) นครเอเธนส์ (Athens) แหล่งกำเนิดการปกครองระบอบประชาธิปไตย บริเวณคาบสมุทรเพโลพอนนีซัส (Peloponnesus) อยู่ตอนใต้อ่าวคอรินท์ เป็นที่ตั้งของนครรัฐสปาร์ตา (Sparta) ที่มีชื่อเสียงด้านการรบ  สถาปัตยกรรมส่วนใหญ่เป็นการก่อสร้างอาคารเพื่อกิจกรรมสาธารณะ แต่เป็นความงดงามของสัดส่วนที่สมบูรณ์แบบใช้ระบบโครงสร้างแบบเสาและคาน แผนผังอาคารเป็นรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้า มีการสร้างเสารายรอบอาคาร ซึ่งจะมีความแตกต่างตรงหัวเสา สามารถแบ่งออกเป็น 3 แบบ คือ แบบดอริก (Doric) แบบไอโอนิก (Ionic) และแบบคอรินเธียน (Corinthian) เช่น วิหาร สนามกีฬา โรงละคร วิหารที่มีชื่อเสียงที่สร้างบนภูเขาที่มีชื่อเรียกว่า อะครอโพลิส (Acropolis) คือ วิหารพาร์เธนอน สร้างเพื่อถวายแด่เทพีอะธีนา (Athena) มหากาพย์ของโฮเมอร์ (Homer, ช่วงประมาณ 850 ปีก่อนคริสตกาล) เรื่อง  อีเลียด (Iliad) และโอดิสซี (Odusseia) คาดว่าประพันธ์ขึ้นในราว 800 ปีก่อนคริสตกาล  ที่สะท้อนถึงความรู้สึกที่กวีมีต่อโศกนาฏกรรมในสงครามทรอย (Troy) ปรัชญา โสเครติส เพลโต อริสโตเติล กรีกเป็นชนชาติแรกในโลกตะวันตกที่เริ่มศึกษาประวัติศาสตร์ตามแบบวิธีการทางประวัติศาสตร์ โดยนักประวัติศาสตร์กรีกคนแรกที่เริ่มเขียนงานประวัติศาสตร์และได้รับการยกย่องว่าเป็นบิดาแห่งวิชาประวัติศาสตร์ของโลกตะวันตก คือ เฮโรโดตัส (Herodotus, ประมาณ 484 – 425 ก่อน ค.ศ.) นอกจากนี้ยังมี ทูซิดิดีส (Thucydides, ประมาณ 460 – 395 ก่อน ค.ศ.) กับผลงานเขียนบันทึกเหตุการณ์ทางประวัติศาสตร์ด้วย เรื่อง The Peloponnesian War ซึ่งนับเป็นวิธีการทางประวัติศาสตร์ในแบบของนักวิชาการเป็นครั้งแรก คณิตศาสตร์และวิทยาศาสตร์ นักคณิตศาสตร์เด่นของกรีก ปิทาโกรัส แห่งเมืองซามอส (Pythagoras of Samo, ประมาณ  570 – 495 ก่อน ค.ศ.) ผู้คิดค้นทฤษฎีบทปิทาโกรัส ยูคลิดแห่งเมืองอะเล็กซานเดรีย (Euclid of Alexandria, ประมาณ 325–270 ก่อน ค.ศ.) ผู้คิดเรขาคณิตแบบยูคลิดและเขียนหนังสือชุด Elements ซึ่งมีจำนวน 13 เล่ม เนื้อหาส่วนใหญ่กล่าวถึงเรขาคณิตระนาบและเรื่องสัดส่วน อาร์คิมีดีสแห่งเซียราคิวส์ (Archimedes of Syracuse ประมาณ 287 – 212 ก่อน ค.ศ.)  เป็นผู้คิดระหัดวิดน้ำแบบเกลียวลูกกรอกชุด ตั้งกฎของคานดีดคานงัด และพบวิธีการหาปริมาตรของวัตถุโดยการแทนที่น้ำ ดังนั้น เมื่อพูดถึงกรีก และอารยธรรมที่เชื่อมต่อไปยังส่วนต่าง ๆ ของโลก แล้วทำให้เห็นความสำคัญและมีอิทธิพลต่อประชาคมโลก เมื่อเดินทางไปแล้วไม่นำมาเล่าถึงดูจะเสียโอกาสของการเดินทาง จึงนำสิ่งที่พบเห็น สะท้อนคิดผสมรวมมาแบ่งเป็นบันทึกเรื่องเล่าจากการเดินทางต่อไป

รูปภาพที่เกี่ยวข้อง

ภาพที่ 1 แบบเสาชนิดต่าง ๆ ที่เป็นเอกลักษณ์ และถูกส่งต่อเป็นมรดกของประชาชาติจากกรีกโบราณ (ที่มา: ออนไลน์, 1 กันยายน 2562)

 

              นอกจากนี้ความเป็นกรีกยังมีเรื่องที่เกี่ยวกับพระพุทธศาสนาที่มาของพระพุทธรูป  รูปแบบการทรงหรือครองจีวรของพระภิกษุในพระพุทธศาสนา รวมทั้งวรรณกรรมสำคัญอย่าง มิลินทปัญหา ที่เป็นวรรณกรรมที่ทำให้ชาวพุทธทั่วโลกมีหน้ามีตา และเป็นการสื่อสารแนวความคิดทางพระพุทธศาสนาสู่ประชาคมโลก รวมทั้งมีนักปราชญ์ชาวกรีก ซึ่งเป็นที่รู้จักของครูอาจารย์ นักวิชาการทางด้านการปกครอง รัฐศาสตร์ ปรัชญา และศาสตร์อื่น ๆ ที่เนื่องเกี่ยวกันจำนวนมากที่ต้องศึกษา ทั้งโสเครติส เพลโต อริสโตเติล  รวมทั้งภาพยนตร์ในชื่อ “Helene of Troys” ที่สร้างขึ้นมาและเป็นที่จดจำของชาวโลก  ทั้งหมดที่ยกมาล้วนเป็นบุคคลที่เนื่องด้วยความเป็นกรีก และดินแดนใกล้เคียงอย่างตุรกี หรือรัฐในอินเดีย เมื่อเดินทางมาแล้ว และคิดว่าคงไม่บ่อย ในรอบชีวิตกับการเดินทางไปที่ใดที่หนึ่ง จึงบันทึกสิ่งที่พบเห็นเป็นการบอกเล่าเรื่องการเดินทางจากสิ่งที่พบเห็นในแบบอาณาบริเวณศึกษา (Area Studies) แบ่งปันประสบการณ์ของการเดินทางไว้ ซึ่งจะได้แบ่งปันประสบการณ์และนำเสนอต่อไป

 

จุดเริ่มต้นของการเดินทาง

              วิธีการเดินทางก็ใช้การเดินทางด้วยสายการบิน Turkis Airline ในรอบดึกของวันที่ 20 มิถุนายน 2561 ใช้เวลาเดินทางประมาณ 8-9 ชั่วโมง และแวะเปลี่ยนเครื่อง ที่สนามบินนานาชาติ Istulbul Turkey จากนั้นก็บินต่อไปยัง Rome ประเทศอิตาลี แวะพักค้าง 1 คืน จากนั้นก็ต่อเครื่องที่สนามบิน ระหว่างสนามบินจาก Rome ไปยัง Athens ในเช้าของอีกวัน  สำหรับการเดินทางครั้งนี้ผู้เขียนและคณะ ได้ส่งบทความอันเป็นผลผลิตที่ได้จากการวิจัยเข้าร่วมนำเสนอในงาน The Twenty-Fifth International Conference on Learning ที่มหาวิทยาลัย University of Athens, Greece, เมื่อ 23rd June 2018 เพื่อไปนำเสนอใน 3 ประเด็น อันประกอบด้วย (1) Trends of Education Management for Unity and Peace of Countries in ASEAN Community อันเป็นผลการวิจัยได้รับแหล่งทุนจากสถาบันวิจัยพุทธศาสตร์โดยมี พระเทพปวรเมธี, รศ.ดร. เป็นหัวหน้าโครงการวิจัย ส่วนผู้เขียนเป็นนักวิจัยร่วม (2) Education Management in Past and Present in ASEAN Community เป็นการถอดองค์ความรู้เกี่ยวกับการจัดการศึกษาในอาเซียนตามที่เคยได้ทำการวิจัยไว้  (3) A Model of Leadership Development for Leaning Organization of Universities in Thailand เป็นผลงานนิสิตระดับปริญญาเอก ที่ผู้เขียนได้เป็นที่ปรึกษาพร้อมทั้งร่วมพัฒนาบทความเพื่อนำเสนอในคราวนี้  ในการเดินทางครั้งนี้ใช้วิธีการแบบ Slow Life แบบไม่เร่งรีบแวะโรม ได้ที่พักราคาประหยัด จากนั้นก็ทัศนศึกษายังแหล่งท่องเที่ยวสำคัญ ด้วยการชื้อตั๋วรถไฟ ที่เป็นแบบ One Day Trip พร้อมแผนที่เดินทางไปยังจุดสำคัญ ๆ ของแหล่งท่องเที่ยว เช่น สำนักวาติกัน อันเป็นสูนย์กลางของเมือง ตั้งอยู่ในกรุงโรม ประเทศอิตาลี เป็นที่ประทับของพระสันตะปาปา ซึ่งเป็นประมุขสูงสุดแห่งคริสตจักรโรมันคาทอลิก (Roman Catholic Church) ศูนย์กลางคือมหาวิหารนักบุญเปโตร (Basilica Sancti Petri) ซึ่งออกแบบโดยมี เกลันเจโล หรือที่มักรู้จักกันในชื่อ ไมเคิลแองเจโล (Michelangelo di Lodovico Buonarroti Simoni, ค.ศ. 1475 – ค.ศ. 1564) จิตรกร สถาปนิก และประติมากรชื่อดัง ในช่วงยุคฟื้นฟูศิลปวิทยาการ (Renaissance) โดยมีผู้ปกครองสูงสุดคือพระสันตะปาปา สมเด็จพระสันตะปาปาฟรานซิส (Franciscus, ค.ศ.1936) ซึ่งได้รับเลือกเมื่อวันที่ 13 มีนาคม พ.ศ. 2556 หมดวาระก็ต่อเมื่อสิ้นพระชนม์ อีกสถานที่คือโคลอสเซียม (Colosseum)  เป็นสนามกีฬากลางแจ้งขนาดใหญ่ตั้งอยู่ใจกลางกรุงโรม เริ่มสร้างขึ้นในสมัยจักรพรรดิเวสเปเซียน (Vespasian) แห่งจักรวรรดิโรมัน และสร้างเสร็จในสมัยของจักรพรรดิไททัส (Titus) ในคริสต์ศตวรรษที่ 1 อัฒจันทร์เป็นรูปวงกลมก่อด้วยอิฐและหินทรายวัดโดยรอบได้ประมาณ 527 เมตร สูง 57 เมตร สามารถจุผู้ชมได้ประมาณ 50,000 คน เมื่อ 7 กรกฎาคม พ.ศ. 2550 โคลอสเซียมได้รับเลือกให้เป็น 1 ในเจ็ดสิ่งมหัศจรรย์ของโลกยุคใหม่  จึงนับเป็นแหล่งท่องเที่ยวทางประวัติศาสตร์ที่สำคัญ โดยประสบการณ์ที่พบเห็นด้วยตาเพื่อนำมาแบ่งปันสะท้อนคิดเป็นเรื่องเล่าจากการเดินทางด้วยภาพดังปรากฏ    

ผลการค้นหารูปภาพสำหรับ Colosseum

ภาพที่ 2 ระหว่างเดินทางที่ต้องไปแวะผ่านเครื่องที่โรม และพักคืน จึงใช้การเดินทางด้วยรถไฟไปยัง โคลอสเซียม (Colosseum) และสำนักวาติกัน ที่อยู่ใจกลางกรุงอิตาลีและนั่งเครื่องเพื่อเดินทางต่อไปยังกรุงเอเธนส์ต่อไป (ที่มา: ผู้เขียน, 21 มิถุนายน 2562)

ผลการค้นหารูปภาพสำหรับ Vaticanภาพที่ 3  สำนักวาติกัน ที่อยู่ใจกลางกรุงอิตาลี นครรัฐที่ไม่มีทางออกสู่ทะเลซึ่งน้อยที่สุดในโลกทั้งในแง่พื้นที่และประชากร ตั้งอยู่ในกรุงโรม ประเทศอิตาลี เป็นที่ประทับของพระสันตะปาปา ซึ่งเป็นประมุขสูงสุดแห่งคริสตจักรโรมันคาทอลิก (ที่มา: ผู้เขียน, 21 มิถุนายน 2561)

กรีกกับพระพุทธศาสนา พระยามิลินท์ พระพุทธรูป และจีวรพระ

              ชาวพุทธส่วนใหญ่รู้จักพระยามิลินท์ หรือมิลินทปัญหา ที่เป็นวรรณกรรมที่ถูกยอมรับและมีการแปล เป็นภาษาต่าง ๆ ทั่วโลก รวมทั้งยอมรับว่าเป็นวรรณกรรมทางพระพุทธศาสนาที่ถูกบันทึกและถ่ายทอดไว้จนกระทั่งปัจจุบัน ดังนั้น เมื่อมีโอกาสเดินทางมายังประเทศที่ได้ชื่อว่ามีพัฒนาการทางประวัติศาสตร์มาอย่างยาวนาน ผู้เขียนเมื่อได้มีโอกาสเดินทางไปยังกรีก จึงนำมาแบ่งปันเล่าเรื่องเชื่อมโยงกับพระพุทธศาสนาที่เกี่ยวเนื่องด้วยกรีก  

ผลการค้นหารูปภาพสำหรับ milinda panha
ผลการค้นหารูปภาพสำหรับ milinda panha

ภาพที่ 4  ภาพเหรียญตราที่ของพระเจ้าเมมานเดอร์ (พระยามิลินท์) ผู้เป็นที่มาของวรรณกรรมทางพระพุทธศาสนาอันเป็นที่รู้จักของประชาคมโลกต่อพระพุทธศาสนา The Milinda Panha (ที่มา: ออนไลน์, 2 กันยายน 2562) 

ผลการค้นหารูปภาพสำหรับ คันธาระ

ผลการค้นหารูปภาพสำหรับ มิลินทปัญหา

ภาพที่ 5 หนังสือมิลินทปัญหาในภาคภาษาไทย และพระพุทธรูปสมัยคันธาระ (The Seated Buddha, dating from 300 to 500 CE, was found near Jamal Garhi, Pakistan, and is now on display at the Asian Art Museum in San Francisco) ที่เชื่อว่าได้รับอิทธิพลจากกรีก รวมทั้งรูปแบบการครองผ้า ครองจีวรของพระสงฆ์ในปัจจุบันด้วย (ที่มา: ออนไลน์, 2 กันยายน 2562) 

ผลการค้นหารูปภาพสำหรับ milinda panha

ภาพที่ 6 ภาพการสนทนาธรรมระหว่างพระนาคเสน และพระยามิลินท์ หรือกษัตริย์เมมานเดอร์ กษัตริย์กรีก ผู้ปกครองกาเลสนคร อันเป็นที่มาของวรรณกรรมทางพระพุทธศาสนาในชื่อ “มิลินทปัญหา” (ที่มา: ออนไลน์, 21 มิถุนายน 2562 Click ไปยังแหล่งภาพ)

 

ผลการค้นหารูปภาพสำหรับ Buddha Toga

ภาพที่ 7 (ซ้าย) ชุดผ้าคลุมของชาวโรมันเรียกว่า โทกา (toga) (ขวา) พระพุทธรูปศิลปะอินเดียแบบคันธารราษฎร์ พระพุทธรูปองค์แรกๆ ของโลก (One of the first representations of the Buddha, 1st–2nd century AD, Gandhara, Pakistan: Standing Buddha (ปัจจุบันอยู่ที่ Tokyo National Museum) มีรูปร่างละม้ายคล้ายพวกกรีก กล่าวคือ มีพระพักตร์คล้ายฝรั่ง (บ้างว่าคล้ายใบหน้าของเทพอพอลโล) พระนาสิกโด่ง พระโอษฐ์เล็ก พระเกศาเป็นเส้นผมอย่างคนสามัญและยาวสลวย แต่เกล้าขึ้นสูงส่วนจีวรของพระพุทธองค์นั้นก็ทำเหมือนกับเสื้อคลุมของชาวกรีก-โรมัน โดยจีวรมีลักษณะคล้ายผ้าหนา ส่วนใหญ่ห่มคลุมทั้งสองบ่า และมีริ้วรอยย่นเป็นริ้วใหญ่คล้ายของจริง (ที่มา: ออนไลน์, 3 กันยายน 2562)

 

ในส่วนพระพุทธรูป หรือ รูปเคารพแทนพระพุทธเจ้า ในตำนานเรื่องพระแก่นจันทน์ได้พรรณนาเรื่องพระพุทธรูปองค์แรกไว้ว่า ครั้งที่พระพุทธเจ้าเสด็จจำพรรษาเพื่อโปรดพุทธมารดา ณ สวรรค์ชั้นดาวดึงส์นั้น พระเจ้าปเสนทิโกศล (Pasenadi) กษัตริย์แห่งเมืองสาวัตถี ทรงรำลึกถึงพระพุทธองค์เป็นอย่างมาก จึงโปรดฯ ให้ช่างหาไม้แก่นจันทน์หอมที่ดีที่สุด มาแกะสลักเป็นพระพุทธรูปอันงดงาม มีพุทธลักษณะคล้ายพระพุทธองค์ แล้วอัญเชิญไปประดิษฐานยังพระราชมณเฑียร เมื่อพระบรมศาสดาเสด็จกลับจากดาวดึงส์ และเสด็จมายังเมืองสาวัตถี พระเจ้าปเสนทิโกศลจึงทูลอาราธนาให้เสด็จทอดพระเนตรพระพุทธรูปองค์ดังกล่าว ครั้นพระพุทธองค์เสด็จไปถึง พระพุทธรูปไม้แก่นจันทน์ได้ขยับองค์จากพระแท่นที่ประดิษฐาน เพื่อถวายความเคารพพระศาสดา ครานั้นพระพุทธองค์จึงทรงยกพระหัตถ์ซ้ายขึ้นห้าม พระไม้แก่นจันทน์จึงกลับไปประทับยังพระแท่นที่เดิม พระเจ้าปเสนทิโกศลเห็นเช่นนั้นก็ยิ่งเกิดความเลื่อมใสศรัทธา จากข้อมูลที่ยกมาเป็นตำนานว่าด้วย “พระพุทธรูป” หรือรูปเคารพที่ปรากฏในครั้งพุทธกาล

ส่วนการสร้างพระพุทธรูปจริง ๆ นั้นเริ่มมีการสร้างขึ้นมาตั้งแต่ระหว่าง พ.ศ. 500 ถึง 550 เมื่อชาวกรีก ที่ชาวชมพูทวีป (อินเดียโบราณ) เรียกชาวต่างแดนว่า “โยนา” หรือ “โยนก”  ดังปรากฏในงานค้นคว้าเรื่อง “The Greeks in Bactria and India” (W.W. Tarn,1966)  หรือในหนังสือเรื่อง “Echoes of Alexander the Great: Silk route portraits from Gandhara (Marian Wenzel, Eklisa Anstalt, 2000) และงานค้นคว้าเรื่อง The Buddhist art of Gandhara, (Sir John Marshall, 1960) รวมไปถึงงานของ Gauranga Nath Banerjee ในเรื่อง  Hellenism in Ancient India (1961) ที่ให้ข้อมูลถึงความสัมพันธ์กับกรีกและอินเดีย รวมทั้งอิทธิพลของงานศิลปะผ่านพระพุทธรูปจากกรีกสู่อินเดียด้วย จากข้อมูลที่พอสืบค้นได้ปรากฏว่า

“….ในราวปี พ.ศ.217-218 พระเจ้าอเล็กซานเดอร์มหาราช ได้บุกยึดดินแดนแถบลุ่มน้ำสินธุ และตั้งแม่ทัพนายกองปกครองบ้านเมืองเพื่อรักษาพระราชอาณาจักร ครั้นเมื่อสิ้นพระเจ้าอเล็กซานเดอร์ ก็ไม่มีผู้ใดสืบทอดอำนาจเด็ดขาด ราชอาณาจักรก็แตกแยกออกเป็นประเทศต่างๆ  โดยทางเอเชียนี้พวกกรีก (หรือชาวโยนก) ก็ต่างตั้งตนเป็นอิสระหลายอาณาเขตด้วยกัน จากนั้นก็ชักชวนสมัครพรรคพวกของตนให้เข้ามาตั้งรกรากในแถบตะวันตกเฉียงเหนือของอินเดียในปัจจุบัน ซึ่งต่อมาเรียกว่า อาณาเขตคันธารราษฎร์ (Gandhara) ซึ่งในปัจจุบันเรียกว่า กันดาฮาร์ (Kandahar)…” 

“…อาณาเขตคันธารราษฎร์ในยุคเริ่มแรกนี้อยู่ในประเทศบัคเตรีย ซึ่งแม่ทัพกรีกคนหนึ่งตั้งตัวเป็นเจ้า ครั้นต่อมาบัคเตรียแพ้สงครามก็จำต้องตัดอาณาเขตคันธารราฐให้แก่พระเจ้าจันทรคุปต์ ต้นราชวงศ์โมริยะ และเป็นพระอัยกาของพระเจ้าอโศกมหาราชดังนั้น เมื่อพระเจ้าอโศกมหาราชอุปถัมภ์เชิดชูพระพุทธศาสนาไว้สูงสุด พระพุทธศาสนาก็จึงเข้าไปประดิษฐานในคันธารราฐนับแต่นั้น  เมื่อพระพุทธศาสนาของอินเดียผสมกลมกลืนกับวัฒนธรรมของชาวกรีกในคันธารราฐ ก็ไม่น่าแปลกใจที่ช่างกรีกจะแหวกหลักประเพณีเดิมของอินเดียที่ห้ามสร้างรูปบุคคล เนื่องจากพวกกรีกนั้นคุ้นเคยกับการสร้างปฏิมากรรมเป็นรูปเทพเจ้าต่างๆ อยู่แล้ว…”

         

จากข้อมูลของ ผาสุข อินทราวุธ ที่เผยแผ่ในหนังสือชื่อ “อัฟกานิสถาน แหล่งผลิตพระพุทธรูปองค์แรกในโลก(สุจิตต์ วงศ์เทศ, บรรรณาธิการ, 2545) และเผยแผ่เป็นบทความในชื่อเดียวกับหนังสือ ในศิลปวัฒนธรรม ออนไลน์ เมื่อวันอังคารที่ 30 เมษายน พ.ศ.2562 ให้ข้อมูลไว้ว่า

“…ในรัชสมัยของพระเจ้ากนิษกะ สกุลคันธาระได้ผลิตผลงานด้านพุทธศิลป์ ซึ่งประกอบด้วยผลงานด้านสถาปัตยกรรม ประติมากรรม และจิตรกรรม จัดว่าเป็นสกุลแรกที่เริ่มสร้างรูปพระพุทธเจ้าเป็นรูปมนุษย์ (ในสมัยพระเจ้าอโศกยังนิยมสร้างแต่รูปสัญลักษณ์เช่นรอยพระบาท) และเนื่องจากสกุลช่างนี้ตั้งอยู่ในแคว้นคันธาระ ซึ่งได้รับอิทธิพลทางวัฒนธรรมจากกรีกและโรมัน (ดังได้กล่าวมาแล้ว) ดังนั้นพระพุทธรูป สกุลช่างคันธาระจึงมีลักษณะเหมือนประติมากรรมแบบกรีก-โรมัน แต่คติการสร้างยังเป็นคติความเชื่อของชาวอินเดียที่สัมพันธ์กับลักษณะมหาบุรุษ 32 ประการของพระพุทธเจ้า (ตามคติความเชื่อของนิกาย มหายานที่ให้อิทธิพลต่อนิกายหินยานในยุคต่อมา) พระพุทธรูปคันธาระจึงมีพระพักตร์คล้ายเทพอพอลโลของกรีก มีพระเกศาหยิกสลวย (ยัง ไม่เป็นขมวดก้นหอย) และมีอิทธิพลโรมันในการทําริ้วจีวรเป็นริ้วผ้า ธรรมชาติ ตามแบบประติมากรรมโรมันในสมัยของจักรพรรดิออกุสตุส  อย่างไรก็ตามยังมีลักษณะมหาบุรุษบางประการปรากฏอยู่ด้วย คือมีอุณาโลม (ขนระหว่างคิ้ว) มีอุษณีษะศีรษะ (กะโหลกศีรษะโปงตอนบน) และมีพระกรรณยาว (หูยาว)…”

 

จากการศึกษาเกี่ยวกับพระพุทธรูปและจีวรนั้น ได้ถูกล่าวถึงภายใต้แนวคิดของการรับช่วงอิทธิพลผ่านมาทางอารยธรรมกรีก-โรมัน โบราณ และผสมระหว่างเทพเจ้าในกรีก กับพระพุทธลักษณ์ของพระพุทธเจ้าในพระพุทธศาสนา ซึ่งข้อมูลหลักฐานเหล่านี้ปรากฏในหลายแหล่งด้วยกัน ทั้งมีที่มาและเชื่อมโยงไปยังพระเจ้าเมนันเดอร์ที่ 1 (Menander I Soter) หรือพระยามิลินท์ กษัตริย์เชื้อสายกรีก ยกทัพกรีกเข้ามาครอบครองแคว้นคันธารราฐ และสร้างเมืองหลวงเป็นที่ประทับ ณ เมืองสาคละ หลังจากที่ได้พบพระสงฆ์ท่านหนึ่งนามว่า นาคเสน จึงมีเรื่องราวแห่งการตั้งคำถามของพระเจ้ามิลินท์ต่อพระนาคเสน จนทำให้พระเจ้ามิลินท์ ทรงเลื่อมใสในพระพุทธศาสนา ส่วนคำถามคำตอบปุจฉาวิสัชนา ซึ่งถูกเขียนบันทึกเป็นหนังสือและแปลเป็นภาษาต่าง ๆ  ที่มีชื่อเสียงมากและรู้จักกันในวงกว้างคือ “มิลินทปัญหา” ดังปรากฏในงานของ Kelly, John (2005), Milindapañha: The Questions of King Milinda (excepts), Access to Insight  งานของ Rhys Davids, Thomas (1894), The questions of King Milinda  งานของ Pesala, Bhikkhu (1992) The Debate of King Milinda: An Abridgement of the Milindapanha รวมทั้งงานของ Mendis, N.K.G. (1993) The Questions of King Milinda: An Abridgement of the Milindapanha ทั้งหมดเป็นงานที่เนื่องด้วยมิลินทปัญหาของพระยามิลินท์อันสะท้อนถึงหลักคิดคำสอนของพระพุทธศาสนาที่ถูกถ่ายทอดสู่สาธารณะ นอกจากนี้พระองค์ยังได้มีการสร้างสถาปัตยกรรม และประติมากรรมทางพุทธศาสนามากมายในแคว้นคันธารราฐ ซึ่งการสร้างพระพุทธรูปนั้นมีลักษณะต่าง ๆ ตามพุทธประวัติ ดังมีหลักฐานว่า พระพุทธรูป “องค์แรก” เกิดขึ้นในสมัยของพระเจ้ามิลินท์ หรือเมนันเดอร์ที่ 1 ชาวกรีกที่มาครอบครองแคว้นคันธารราฐ เมื่อประมาณพุทธศตวรรษที่ 6 หรือ 2,000 ปีที่แล้ว  จึงเรียกรูปแบบของพระพุทธรูปนี้ว่า แบบคันธารราฐ โดยถ่ายแบบอย่างเทวรูปที่พวกชาวกรีกนับถือกันในยุโรปมาสร้าง พระพุทธรูปแบบคันธารราฐจึงมีใบหน้าเหมือนฝรั่งชาวกรีก จีวรก็เป็นริ้วเหมือนเครื่องนุ่งห่มของเทวรูป กรีก และต่อมาในภายหลัง ราวพุทธศตวรรษ ที่ 4-12 มีคตินิยมสร้างพระพุทธรูปเป็นขนาดเล็กๆ (พระเครื่อง) บรรจุไว้ในพุทธเจดีย์ด้วย ดังนั้น พระพุทธศาสนาในแบบรูปเคารพ รูปแบบการครองจีวรของพระ และวรรณกรรมทางพระพุทธศาสนามิลินทปัญหา ถูกสร้างภายใต้เงื่อนของประเทศราชกรีก ในสมัยพระเจ้าอเล็กซานเดอร์ และมีผู้ปกครองเป็นเมมานเดอร์แห่งกรีก ดังปรากฏเป็นหลักฐานและข้อมูลที่สืบค้นมานำเสนอได้

กษัตริย์กรีกผู้เป็นชาวพุทธ

              เกิดคำถามต่อไปอีกว่าแล้วพระเจ้าเมนันเดอร์ ที่ 1 (Menander I Soter) หรือที่รู้จักกันเป็นอย่างดีในวรรณกรรมบาลีว่า “พระเจ้ามิลินท์” เป็นใคร ผู้เขียนในฐานะผู้เดินทาง และมือใหม่ก็ต้องหาและสืบค้นข้อมูล เพื่อเชื่อมให้เห็นว่า “กรีก-อินเดีย-พุทธ” อย่างไร ซึ่งพบหลักฐานให้ข้อมูลไว้ว่า พระเจ้าเมนันเดอร์ ที่ 1 เป็นกษัตริย์อินโด-กรีก (165/155-130 ปี ก่อน ค.ศ.) ผู้ปกครองจักรวรรดิขนาดใหญ่ในภูมิภาคตะวันตกเฉียงเหนือของเอเชียใต้จากเมืองหลวงของพระองค์คือ เมืองสาคละ (Sagala, ปัจจุบันเรียกว่า Sialkot อยู่ทางเหนือของแคว้นปัญจาบในประเทศปากีสถาน) และพระองค์ถูกบันทึกว่าเป็นผู้อุปถัมภ์ศาสนาพุทธ ในหลักฐานปรากฏว่า พระเจ้าเมนันเดอร์ทรงกำเนิดที่แถบคอเคซัส ทรงเป็นกษัตริย์ของแคว้นบักเตรีย หลังจากพิชิตแคว้นปัญจาบได้  พระองค์สถาปนาจักรวรรดิขึ้นในเอเชียใต้ ขยายออกจากที่ราบหุบเขาลุ่มแม่น้ำคาบูลจากทางทิศตะวันตก ไปจรดถึงแม่น้ำราวีทางทิศตะวันออก และจากที่ราบหุบเขาลุ่มแม่น้ำสวัตทางตอนเหนือ ไปจรดถึงอะราโคเซีย (จังหวัดเฮลมันด์) ซึ่งนักบันทึกชาวอินเดียโบราณชี้ว่า พระองค์ได้ขยายอาณาจักรไปทางทิศใต้เข้ามาในรัฐราชสถานและขยายไปทางทิศตะวันออกไกลถึงแม่น้ำคงคาตอนล่างที่เมืองปาฏลีบุตร (ปัฏนา) และสตราโบนักภูมิศาสตร์กรีกเขียนไว้ว่า “พระองค์พิชิตรัฐ (ในอินเดีย) ได้มากกว่าพระเจ้าอเล็กซานเดอร์มหาราชจากหลักฐานที่พบเป็นเหรียญของพระองค์จำนวนมากที่ถูกขุดพบ ยืนยันถึงทั้งการค้าที่เจริญรุ่งเรืองและช่วงระยะเวลาของจักรวรรดิของพระองค์ พระเจ้าเมนันเดอร์ยังได้เป็นผู้อุปัฏภัมภ์พระพุทธศาสนา และบทสนทนาของพระองค์กับพระนาคเสน (Nāgasena) พระเถระนักปราชญ์ชาวพุทธ ก็ถูกบันทึกไว้เป็นผลงานสำคัญทางพระพุทธศาสนาชื่อว่า “มิลินทปัญหา” (ปัญหาของพระเจ้ามิลินท์) หลังจากที่พระองค์สวรรคตในปี 130 ก่อน ค.ศ. พระมเหสีของพระองค์พระนามว่า อะกาทอคลีอา (Agathokleia) ก็รับช่วงเป็นผู้ปกครองต่อโดยเป็นผู้สำเร็จราชการแผ่นดินแทนพระโอรสของพระองค์พระนามว่า สตราโต ที่ 1 (Strato I) การบันทึกของชาวพุทธบอกว่าพระองค์ส่งมอบอาณาจักรไปสู่พระโอรสและปลีกตัวเองจากโลก แต่พลูตาร์ช (Plutarch, ประมาณ ค.ศ.46-120) นักประวัติศาสตร์ชาวกรีกได้บันทึกไว้ว่า พระองค์สวรรคตในค่ายในขณะที่มีการออกรบทางทหาร และยังบอกว่า พระอัฏฐิของพระองค์ถูกแบ่งออกเป็นส่วนเท่า ๆ กันเพื่อเมืองต่าง ๆ เพื่อนำไปประดิษฐานในอนุสรณ์สถานอาจจะเป็นสถูปทั่วทั้งอาณาจักรของพระองค์

ภาพที่ 8 ในกรุงเอเธนส์ ทหารได้เปลี่ยนผลัด เป็นการสวนสนามให้นักท่องเที่ยวได้รอชมและถ่ายรูป
            เป็นเสน่ห์ของเมืองอีกแบบหนึ่ง (ที่มา: ผู้เขียน, 23 มิถุนายน 2561)

 

หลังการครองราชย์ของพระเจ้าเมนันเดอร์ที่ 1 สตาโบ ที่ 1 ยังมีผู้ปกครองของอินโดกรีกอีกหลายพระองค์ในยุคสมัยต่อมา เช่น อมินทาส (Amyntas) ไนเซียส (Nicias) พีกอลาออส (Peukolaos) เฮอแมอัส (Hermaeus) และ ฮิปปอสทราตัส (Hippostratos)  โดยมีข้อมูลว่ากษัตริย์เหล่านี้ได้สร้างรูปเคารพตัวเองบ้าง  หรือเทพเจ้ากรีกตามที่เคารพนับถือ ผสมผสานกันอาทิ มีพระหัตถ์ขวาท่าทางเป็นสัญลักษณ์เหมือนกับท่าวิตรรกะ มุทรา (vitarka mudra) (ท่าจีบหัวแม่มือและนิ้วชี้คู่กัน ส่วนนิ้วอื่นเหยียดออก) เป็นการผสมผสานกับพุทธศาสนา ที่รูปทรงดังกล่าวหมายถึงการถ่ายทอดคำสอนของพระพุทธเจ้า (ปางแสดงปฐมเทศนาธรรมจักรกัปปวัตนสูตร) ในเวลาเดียวกัน หลังจากการสิ้นพระชนม์ของพระเจ้าเมนันเดอร์แล้ว ผู้ปกครองชาวอินโดกรีกจำนวนมากเริ่มนำไปใช้ในเหรียญของพวกตน หัวข้อธรรมะภาษาบาลีที่ว่า “ธมฺมิก” (Dharmikasa) หมายความว่า ผู้ทรงธรรม (ข้อธรรมะที่พระเจ้าอโศกมหาราชกษัตริย์ชาวพุทธใช้คือ ธรรมราชา หมายความว่า พระราชาแห่งธรรมะ) การใช้หัวข้อธรรมะนี้ถูกนำไปใช้โดยพระเจ้าสตาโบ ที่ 1 โซอิลอส ที่ 1 เฮลิโอเกลส์ ที่ 2 (Heliokles II) ธีโอฟิลอส (Theophilos) พีกอลาออส (Peukolaos) และ อาร์คิบิออส (Archebios)

ผลการค้นหารูปภาพสำหรับ ATHEN

ภาพที่ 9 ภาพวิหารพาร์เธนอน หรือกลุ่มเมืองโบราณสถานที่สำคัญของเอเธนส์ ที่ตั้งอยู่บนเนินเขากลางเมืองเอเธนส์ และนับว่าเป็นสถานที่สัญลักษณ์ของความรุ่งเรืองของอารยธรรมกรีกโบราณ ที่ไปไม่ได้เที่ยว  หรือไปไม่ถึง ถือว่าไปไม่ถึงอีกเช่นกัน  (ที่มา: ออนไลน์/ผู้เขียน 21 มิถุนายน 2561)   

 

สำหรับการเปลี่ยนมานับถือพุทธศาสนาของพระเจ้าเมนันเดอร์ถูกบรรยายไว้ในมิลินทปัญหา นอกจากนี้การเปลี่ยนมานับถือพระพุทธศาสนาของพระยามิลินท์ มีส่วนช่วยในการขยายตัวของพระพุทธศาสนาไปสู่เอเซียกลาง  และเอเชียตอนเหนือ ดังมีหลักฐานเชื่อมโยงเป็นอิทธิพลของพุทธศาสนาในกุษาณะ (Kushans) ซึ่งมีหลักฐานว่ามีความเป็นไปได้ว่าอาจมีการนำพระพุทธศาสนามาในพื้นที่เหล่านั้นจากแคว้นคันธาระ อันเชื่อมต่อจากยุคของพระยามิลินท์ นอกจากนี้ภายหลังการสิ้นพระชนม์ของพระเจ้าเมนันเดอร์ (พระยามิลินท์) อิทธิพลของอารยธรรมกรีกยังดำเนินเนื่องต่อมา ดังปรากฏเป็นหลักฐานในลายผ้าสักหลาดที่ สถูปสาญจี (Sanchi) แสดงให้เห็นถึงพุทธสาวกในชุดเครื่องแต่งกายแบบกรีก ผู้ชายเป็นภาพที่มีผมหยิกสั้นมักจะเกล้าขึ้นด้วยแถบคาดศีรษะชนิดที่พบเห็นได้ทั่วไปบนเหรียญกรีก เสื้อผ้าก็เป็นแบบกรีก พร้อมด้วยเสื้อคุมแบบกรีก (tunics) ผ้าคลุมไหล่และรองเท้าแตะ เครื่องดนตรียังมีลักษณะพิเศษ เช่นขลุ่ยคู่ที่เรียกว่า ออลอส (aulos) นอกจากนี้ยังมองเห็นเครื่องเป่ายาวๆ คล้ายแตร พวกเขาทั้งหมดฉลองที่ทางเข้าของเจดีย์ คนเหล่านี้อาจจะเป็นชาวอินโดกรีกมาจากอินเดียตะวันตกเฉียงเหนือเพื่อเยี่ยมชมสถูปสาญจี รวมทั้งกษัตริย์ในช่วงต่อมายังมีการสัญลักษณ์ทางพระพุทธศาสนาในรูปแบบใดรูปแบบหนึ่ง ดังกรณีการสร้างเหรียญของกษัตริย์ผู้สืบต่อจากพระองค์ โดยเฉพาะกษัตริย์หลังจากพระเจ้าเมนันเดอร์ ล้วนปรากฏสัญลักษณ์ทางพระพุทธศาสนาในเหรียญประจำพระองค์ เช่น ท่าวิตรรกะ มุทรา เป็นต้น

ทั้งหมดที่ยกมาล้วนเป็นเรื่องของพระยามิลินท์ ที่เนื่องด้วยอาณาจักรโบราณ และเป็นกษัตริย์กรีกที่ชาวพุทธรู้จักในนาม “พระยามิลินท์”  ผู้สร้างวรรณกรรมทางพระพุทธศาสนาร่วมกับพระนาคเสน  ดังนั้น เมื่อได้มีโอกาสเดินทางไปเอเธนส์ กรีกจึงไปค้นคว้าเกี่ยวประวัติและความเชื่อมโยงกับพระพุทธศาสนา และเชื่อมให้เห็นว่าการแลกเปลี่ยนเชื่อมโยงวัฒนธรรม มีความสำคัญต่อพัฒนาการทางประวัติศาสตร์พระพุทธศาสนาด้วย ดังนั้น พระพุทธรูปก็ดี รูปแบบของการทรงจีวร ครองจีวร ล้วนมีร่องรอยมาจากอารยธรรมของการครองผ้าของกรีก-โรมัน เมื่อเดินทางทั้งทีก็นำมาเล่าแบ่งปัน เพื่อประโยชน์ขององค์ความรู้จากพื้นที่ศึกษา

 

ม้าไม้เมืองทรอย กับนกไม้ในธรรมบท

              มาถึงกรีก ผ่านตุรกี ไม่พูดถึงม้าไม้เมืองทรอย วรรณกรรมในเชิง “ตำนาน” และภาพยนตร์เลื่องชื่อ ก็เหมือนมาไม่ถึงกระมัง จากการสืบค้นข้อมูล ผู้เขียนไปไม่ถึงดินแดนกรีก และตุรกี กับตำนานอันที่มาของม้าไม้เมืองทรอย เมื่อได้มาเปลี่ยนเครื่องที่สนามบินอิสตันบูล (Istanbul) ประหนึ่งมาเหยียบเมืองทรอย ถ้าจะเล่าเรื่องเมืองทรอยด้วยก็คงไม่ผิดไปเสียทีเดียว “กรีก-ตุรกี/ม้าไม้เมืองทรอย”

ผลการค้นหารูปภาพสำหรับ Turkish Delight

ภาพที่ 10 ในการเดินทางครั้งนี้ ผู้เขียนได้แวะเปลี่ยนเครื่อง Turkish Airline ที่สนามบินอิสตัลบูล
     กับขนม Turkish Delight อันเป็นถิ่นเมืองทรอย (ที่มา: ผู้เขียน 26 มิถุนายน 2561)

 

                 ปลายทางการเดินทางของผู้เขียนเป็นกรุงเอเธนส์ ประเทศกรีซ ต้องเปลี่ยนเครื่องที่อิสตัลบูน ตุรกี พร้อมแวะพักค้างคืนที่โรมอิตาลี เส้นทางการเดินทางเป็นแบบนี้ทั้งขาไปและกลับ เมื่อเป็นดังนั้นจึงมีเหตุให้ผลที่จะพูดถึงม้าไม้เมืองทรอย กับนกไม้ ในคติทางพระพุทธศาสนาที่เหมือนกันคือว่าด้วยเรื่องกลยุทธ์ หรือวิธีการในเชิงศึก ที่มีเป้าหมายเพื่อหวังผลอย่างใดอย่างหนึ่งด้วย

              แล้วเรื่องม้าไม้เมืองทรอยเป็นอย่างไร ?

              ก็ต้องตอบแบบคนเพิ่งสืบค้นข้อมูลในแบบสนใจใคร่รู้ว่า

              ตามตำนานกรีกโบราณในมหากาพย์เรื่อง ‘อิเลียต’ (Iliad) ของกวีนามว่า ‘โฮเมอร์’ (Homer) ได้มีการบันทึกเรื่องราวเกี่ยวกับ ‘กรุงทรอย’ (Troy) เอาไว้ว่า ‘กรุงทรอย มีที่ตั้งอยู่ในบริเวณจุดยุทธศาสตร์ที่ดีที่สุดของช่องแคบเฮลเลสพอนด์ (Hellenpond) ทำให้นครแห่งนี้สามารถควบคุมเส้นทางการติดต่อทั้งทางบกและทางน้ำระหว่างทวีปเอเชียและทวีปยุโรปได้ ตามบันทึกที่ว่านี้นั้นแรกเริ่มเดิมทีเหล่านักปราชญ์และผู้เชี่ยวชาญทั้งหลายต่างก็เชื่อว่ากรุงทรอยเป็นแค่เมืองในตำนาน หาได้มีอยู่จริงบนโลกใบนี้ไม่ หากแต่เมื่อราว 140 ปีที่แล้ว มีผู้ค้นพบซากของเมืองโบราณแห่งหนึ่ง ซึ่งเชื่อกันว่านี่คือซากของ “กรุงทรอย”

เมื่อปี ค.ศ. 1868  ไฮน์ริช ชลีมันน์ (Heinrich Schliemann) นักธุรกิจและนักโบราณคดีชาวเยอรมัน ที่ยอมลงทุนและลงแรงออกเดินทางตามหากรุงทรอยในตำนาน ด้วยความเชื่อที่ว่าเมืองแห่งนี้มีอยู่จริง จนกระทั่งเขาได้พบกับซากเมืองโบราณในเขตของเมือง Canakkale เมืองทางตะวันตกเฉียงเหนือของประเทศตุรกี บริเวณช่องแคบดาร์ดะเนลส์ (Dardanelles) ซึ่งเป็นช่องแคบที่กั้นระหว่างคาบสมุทร Gallipoli ที่แยกทวีปยุโรปกับทวีปเอเชียออกจากกัน และเชื่อกันว่านี่คือซากของกรุงทรอย หากแต่กรุงทรอยที่ชลีมันน์ค้นพบนั้นหาได้มีอาณาเขตใหญ่โตตามที่มหากาพย์อิเลียต กล่าวไว้ไม่ เป็นเพียงแค่ซากปรักหักพังของเมืองที่ถูกเผาทำลาย ปัจจุบันตั้งอยู่ในจังหวัด ชานักคาแล (Çanakkale Merkez) ส่วนหนึ่งของประเทศตุรกีในปัจจุบัน ซึ่งเป็นชายแดนรอยต่อของกรีกด้วยเช่นกัน

              ส่วนตำนานที่ว่าด้วยเรื่องราวของ ‘สงครามกรุงทรอย’ (Trojan War) หรือที่รู้จักกันในชื่อ ‘สงครามม้าไม้’ นั้น เป็นการสู้รบกันระหว่างกองทัพของชาวกรีกและกองทัพของชาวทรอยหรือชาวโทรจัน ชนวนเหตุของสงครามเกิดจากการที่ ‘เจ้าชายปารีส’ แห่งทรอย ได้ไปลักพาตัว ‘เจ้าหญิงเฮเลน’ ซึ่งเป็นชายาของ ‘พระเจ้าเมเนลาอุส’ กษัตริย์นครสปาร์ตาแห่งกรีก ซึ่งถือเป็นการหยามเกียรติและศักดิ์ศรีของ ‘พระเจ้าเมเนลาอุส’ เป็นอย่างมาก จึงได้เกิดสงครามแย่งชิงตัว ‘เจ้าหญิงเฮเลน’ ขึ้น มีการสู้รบกันเป็นเวลานานถึง 10 ปี ในที่สุดกองทัพกรีกก็ได้คิดแผนการที่จะตีกรุงทรอย โดยการออกอุบายสร้างม้าไม้จำลอง หรือที่เรียกกันว่า ‘ม้าไม้เมืองทรอย’ ม้าไม้ขนาดใหญ่ยักษ์แต่ข้างในกลวงเพื่อที่จะได้ซ่อนทหารกรีกเอาไว้ภายในได้ แล้วมอบให้กับกรุงทรอยเสมือนเป็นของขวัญและเป็นนัยว่ากองทัพกรีกยอมแพ้ต่อกองทัพของชาวทรอยอย่างราบคาบ

              ชาวทรอยเมื่อเห็นม้าโทรจันต่างก็ดีใจที่สงครามได้สิ้นสุดลงแล้ว และได้ทำการเข็นม้าโทรจันเข้ามาในเมือง มีการเฉลิมฉลองให้กับชัยชนะในครั้งนี้อย่างยิ่งใหญ่ และเมื่อชาวทรอยทั้งหลายนอนหลับพักผ่อนกันอย่างสบายอกสบายใจอยู่นั้น ทหารกรีกที่ซ่อนตัวอยู่ในม้าโทรจันก็แอบออกมา และเปิดประตูเมืองให้กองทัพกรีกที่ซุ่มอยู่ด้านนอกเข้ามาข้างใน และสุดท้ายกองทัพกรีกก็สามารถยึดเมืองทรอยได้อย่างง่ายดาย มิหนำซ้ำยังเผาทำลายเมืองทั้งเมืองทิ้งอีกด้วย

          ตำนานเกี่ยวกับม้าไม้เมืองทรอย พูดถึงกลยุทธ์ “ลับ-ลวง-พราง” และใช้วิธีการ “ลวง” ทำให้อีกฝั่งชื่อว่าสงบแล้ว จึงนำไปสู่การหลงเข้าไปในกับดักที่วางไว้ ผลก็คือม้าไม้เมืองทรอย กลายเป็นเครื่องมือในการทำลายอีกฝั่งหนึ่ง  เป็นกลยุทธ์  ที่ถูกนำมาสร้างเป็นละคร Helen of Troys (2003)  และภาพยนตร์ Troys (2004) และเป็นที่รับรู้ของคนในวงกว้างเกี่ยวกับภาพยนตร์อิงประวัติศาสตร์ และกลายเป็นฉากสำคัญของหนังและเป็นภาพจำและรับรู้เกี่ยวกับเอเธนส์ และเมืองทรอย ผู้เขียนอาจไม่ได้เดินทางไปถึงม้าไม้ เสียทีเดียวแต่อย่างน้อยก็ได้ย่างกายไปจนถึงตุรกี เรียกว่า “เฉียด”  ก็ต้องพูดถึงเสียหน่อย ม้าไม้นับเป็นกลยุทธ์หรือกลศึกในแบบโบราณใช้เทคนิคการสร้างสถานการณ์จำลอง เพื่อทำให้อีกฝ่าย หลงเชื่อ และทำศึกจนชนะ ซึ่งวิธีการเหล่านี้เป็นกลยุทธ์ในทางการบริหารจัดการทั้งสิ้น และในการบริหารทำให้เกิดผลเป็นการยอมรับหรือความเชื่อเสียก็ไม่ผิดทีเดียว

ผลการค้นหารูปภาพสำหรับ ทรอยภาพที่ 11 ม้าไม้เมืองทรอย (ขวา) ที่ Holly Wood ถ่ายทำหนังเรื่อง Helen of Troys มอบให้เป็นที่ระลึกหลังถ่ายทำเสร็จ ซึ่งตั้งอยู่ในจังหวัด ชานักคาแล (Çanakkale Merkez) ในตุรกี  อันเป็นสัญลักษณ์ที่เชื่อมต่อของสงครามกรุงทอยส์ (ซ้าย) ลูกปัดที่สนามบินเอกลักษณ์ของการแต่งกายที่ถือว่าเป็นเอกลักษณ์แบบตุรกีอีกอย่างหนึ่ง  (ที่มา: ออนไลน์/ผู้เขียน 21 มิถุนายน 2562)

 

              ในส่วนธรรมบทของพระพุทธศาสนาก็มีเรื่องนกไม้ ที่ใช้เป็นยุทธ์ในการศึก ม้าไม้เมืองทรอย เป็นเหตุการณ์ที่กรีก ใช้เพื่อลวงชาวเมืองทรอย ให้หลงเข้าใจว่าบุกยึดเมืองไม่ได้สักที คงหนีเลิกทัพ กลับเมือง พร้อมทิ้งม้าไม้ไว้เป็นอนุสรณ์สถานสำหรับการ ทำศึก อีกฝ่ายก็เข้าใจตามนั้นเปิดประตูเมืองไปขนลากม้าไม้ที่ศัตรูทิ้งไว้ให้ดูต่างหน้า เป็นอนุสรณ์ แต่ก็มีการวางกลยุทธ์ซ่อนทหารไว้ในม้าไม้ และยามดึกออกมาเปิดประตูเมืองให้ฝ่ายเอเธนส์มาทำศึกจนชนะในที่สุด  ในส่วนวรรณกรรมทางพระพุทธศาสนาปรากฏในธรรมบทเรื่อง โพธิราชกุมาร ที่ให้ช่างทำปราสาทไว้อย่างวิจิตรงดงาม แต่อีกนัยหนึ่งเกรงว่าช่างจะไปสร้างให้คนอื่นแล้วมีความสวยงามเทียบได้ จึงมีดำริสังหารช่างก่อสร้างปราสาทเสีย แต่อีกนัยหนึ่งช่างก็รู้ว่าตัวเองตกอยู่ในสถานการณ์ถูกหมายชีวิต จึงลวงว่าให้กษัตริย์ว่าให้หาไม้เนื้ออ่อนไร้แก่น มาเพื่อทำปราสาทขั้นตอนสุดท้าย และสร้างครุฑไม้ แล้วพาครอบครัวหนีไปในที่สุดดังมีหลักฐานเป็นข้อมูลว่า

ฝ่ายนายช่างนั่งถากไม้เหล่านั้นอยู่ในห้องๆ หนึ่งทำเป็นนกครุฑ ควรที่บุตรภรรยาของตนนั่งภายในได้ ในเวลารับประทานอาหาร สั่งภรรยาว่า “เธอจงขายของทุกสิ่งอันมีอยู่ในเรือนแล้ว รับเอาเงินและทองไว้” ที่สามารถขี่ได้ทั้งครอบครัวหนีไป “ฝ่ายพระราชกุมารรับสั่งให้ล้อมเรือนไว้ ทรงจัดตั้งการรักษาเพื่อประโยชน์จะไม่ให้นายช่างออกไปได้ แม้นายช่าง ในเวลาที่นกสำเร็จแล้ว สั่งภรรยาว่า “วันนี้ หล่อนพึงพาเด็ก แม้ทั้งหมดมา” รับประทานอาหารเช้าเสร็จแล้ว ให้บุตรและภรรยานั่งในท้องนก ออกทางหน้าต่าง หลบหนีไปแล้ว

พระไตรปิฎก ไทย (ฉบับมหาจุฬาฯ) เล่มที่ 7
วินัยปิฎก จุลวรรค ภาค 2 ข้อที่ 267-268 หน้าที่ 49

              ดังนั้น ม้าไม้เมืองทรอย นกไม้ในธรรมบท เป็นเรื่องเล่าที่ว่าด้วยสิ่งที่เคยเกิดขึ้นในอดีต รวมทั้งเป็นตำนานที่ว่าด้วยกลยุทธ์และวิธีการที่เกิดขึ้น นัยหนึ่งเป็นรูปแบบทางการบริหารจัดการเพื่อประโยชน์ที่ดีกว่าหรือมีประโยชน์กว่า จึงยกมาเป็นกรณีศึกษาเล่าไว้ บันทึกไว้  เมื่อผู้เขียนผ่านไปถึงเอเธนส์ ผ่านตุรกี ผู้สร้างตำนานม้าไม้ร่วมกัน ก็ให้ประหวั่นนึกถึงนกไม้ในพระพุทธศาสนาที่เคยได้ยินมา จึงค้นคว้าเรียบเรียงนำมาประกอบกันเพื่อให้เห็นว่ากลยุทธ์และวิธีการมีความสำคัญไม่เปลี่ยนแปลงทั้งในเชิงศึก การบริหาร และการใช้ชีวิต

รูปภาพที่เกี่ยวข้องรูปภาพที่เกี่ยวข้อง

ภาพที่ 12 เรื่องม้าไม้เมืองทรอย ถูกนำมาสร้างเป็นละครในปีล่าสุด ในชื่อ  Helen of Troy (miniseries) นำแสดงโดย Sienna Guillory และ Matthew Marsden ฉายในปี 2003/2546 ภาพยนตร์เรื่อง Troy หนัง Holly Wood ที่ถูกสร้างในปี 2004/2547 นำแสดงโดย Brad Pitt  ม้าไม้ที่ใช้ถ่ายทำได้มอบให้ตุรกี หลังหนังทำเสร็จ (ที่มา: ออนไลน์ กันยายน 2562)

 

มา Athens ทั้งทีต้องพูดถึง เพลโต โสเครตีส อริสโตเติล

              มาเที่ยวท่องถึงกรีซ ไม่พูดถึงนักปรัชญาเด่น ๆ ของโลก อย่าง โสเครตีส เพลโต อริสโตเติล ดูจะห่างไกลและเป็นเรื่องที่ไม่สมควรกระมัง เมื่อมาแล้ว ถึงไม่ได้สัมผัสโดยตรง หรือเกิดไม่ทัน หรือมีส่วนเกี่ยวข้องกับความเป็นสาขาอาชีพ โดยตรงทางด้านการเมืองการปกครอง หรือรัฐศาสตร์ แต่เชื่อได้เลยว่าในศาสตร์ของการศึกษาในระดับมหาวิทยาลัย จะต้องมีบุคคลทั้ง 3 ท่านโลดแล่นอยู่ในตำรับตำรา อาจเป็นรัฐศาสตร์เบื้องต้น กฎหมายเบื้องต้น การบริหารการปกครอง ที่เนื่องด้วยการปกครองในยุคสมัยต่อมา ที่ทำให้เห็นว่าอย่างไรเสียความสำคัญบุคคลทั้ง 3 เนื่องด้วยการเมืองการปกครองทั้งสิ้น และที่สำคัญมีประวัติพัฒนาการร่วมสมัยกับบุคคลสำคัญของโลก ทั้งพระพุทธเจ้า เล่าจื้อ เม่งจื้อ ทางบูรพาทิศ ดังนั้น จึงนำมาเล่าแบ่งปันจากการเดินทางเกี่ยวกับบุคลทั้ง 3 ต่อไป

ผลการค้นหารูปภาพสำหรับ เพลโต โสเครติส อริสโตเติล

ภาพที่ 13 นักคิดทางด้านรัฐศาสตร์ การเมืองการปกครอง โสเครตีส ถูกส่งต่อไปสู่ เพลโต และถูกส่ง
          ต่อไปยังนักปรัชญาอย่าง อริสโตเติล จนกลายเป็นบุคคลสำคัญของโลกต่อศาสตร์ของความรู้
          ในสาขานี้   (ที่มา: ออนไลน์, 24 กรกฎาคม 2562)

 

              ถามว่าทั้ง 3 คนเป็นใครก็ต้องตอบว่า รู้แบบงู ๆ ปลาๆ ในตอนเรียนระดับชั้นปริญญาตรี ในชื่อรายวิชาที่มีคำว่า “เบื้องต้น” ต่อท้าย แบบผ่านหูผ่านตา จึงให้ต้องมาหาข้อมูลเพิ่มผ่าน Google ยุคสมัยของข้อมูลข่าวสาร ที่สามารถสืบค้นได้ให้ข้อมูลว่า

              โสเครตีส (Socrates; 4 มิถุนายน 470 ปีก่อนคริสตกาล — 7 พฤษภาคม 399 ปีก่อนคริสตกาล) เป็นนักปราชญ์ของกรีกโบราณและเป็นชาวเมืองเอเธนส์ ซึ่งถือกันว่าเป็นผู้วางรากฐานของปรัชญาตะวันตก  โสเครตีสเป็นบุคคลในประวัติศาสตร์ที่ไม่ได้มีผลงานการเขียน แต่ ซีโนฟอน ได้บันทึกกล่าวถึงโสเครตีสว่า  “โสเครตีส ใช้ชีวิตกับการสนทนาปรัชญา” แปลว่าสิ่งที่เขาทำคือการสื่อสารความคิด ข้อมูลจากอาริสโตฟานเนสว่า “โสเครตีส ได้เปิดโรงเรียนของตนเอง แต่การเปิดโรงเรียนนัยหนึ่งถูกให้คำนิยามว่าเป็นอาชีพสำหรับเลี้ยงตัวเอง ดังข้อมูลของซีโนฟอนกล่าวใน “ซิมโพเซียม” ว่า “โสเครตีส รับเงินจากลูกศิษย์ของเขา”  แต่เพลโตได้บรรยายแย้งกับข้อมูลเรื่องค่าสอนว่า “โสเครตีส ไม่ได้รับเงินจากลูกศิษย์”  โสเครติสไม่ได้เขียนหรือบันทึกหนังสือ แต่โสเครติส ได้สื่อสารแสดงทัศนะผ่านการพูดบรรยาย โต้แย้งและสอนหนังสือ จึงทำให้แนวคิดถูกส่งต่อและอีกนัยหนึ่งก็เป็นการโต้แย้งกับระบบความรู้ ความคิดเดิมในช่วงเวลานั้นด้วย

โสเครตีส ใช้ชีวิตอยู่ในอาณาจักรเอเธนส์ ช่วงที่มีการเปลี่ยนแปลงจากจุดสูงสุดของอาณาจักรเอเธนส์ถึงยุคเสื่อมภายหลังการพ่ายแพ้ให้กับกรุงสปาร์ตา (Sparta) มีบุคคลสามคนสำคัญที่  ยุให้ศาลสาธารณะของกรุงเอเธนส์ไต่สวนโสเครตีส  โดยกล่าวหาว่าโสเครตีส เป็นผู้ที่สร้างความเสื่อมศรัทธาในศาสนา และเยาวชนในกรุงเอเธนส์ เรื่องราวทั้งหมดนี้สามารถอธิบายได้ เมื่อนึกถึงสถานการณ์ในเมืองเอเธนส์ภายหลังการพ่ายแพ้ให้กับสปาร์ตานั้น ชาวเมืองเอเธนส์ ผู้ยังเชื่อถือในเทพเจ้าผู้ปกป้องเมืองต่าง ๆ มองว่าการพ่ายแพ้ของเอเธนส์เป็นเพราะเทพเจ้าเอเธนา (Athena) ผู้เป็นเทพปกครองเมืองเอเธนส์นั้นประสงค์จะลงโทษเมืองเอเธนส์เพราะผู้คนในเมืองเสื่อมศรัทธาในศาสนา การที่โสเครตีส ตั้งคำถามและสนทนาเกี่ยวกับปรัชญาจึงเท่ากับเป็นการทรยศชาติ การไต่สวนตัดสินว่าโสเครตีส มีความผิด เขาถูกประหาร โดยการดื่มยาพิษและเสียชีวิตในที่สุด

ความเชื่อและความไม่เชื่อมีผลเป็นความมีมาแต่อดีต ต่อเนื่องมาแต่สมัยใหม่ ไม่ใช่เรื่องแปลก แปลว่าโสเครติสเสียชีวิตด้วยความเชื่ออีกชุดหนึ่ง แต่ไม่ใช่ในแบบที่เขาเชื่อ ฉะนั้น ความตายจึงเป็นที่สุดด้วยเช่นกัน

ผลการค้นหารูปภาพสำหรับ โสเครติส ตายภาพที่ 14 การตายของโสเครตีส  โดยฌัก-หลุยส์ ดาวีด พ.ศ. 2330 (ที่มา: ออนไลน์, 3 กันยายน 2562)

เมื่อพูดถึงโสเครติส จะพบว่าไม่ได้เขียน แต่สอน พูดบรรยาย ถ่ายทอด ด้วยเหตุผลว่าเทคโนโลยีการเขียน ภูมิปัญญการเขียนยังไม่มีกระมัง แต่คนที่ต่อยอดและมาขยายส่งต่อความคิดของเขามีนักปรัชญาที่เรารู้จักอีกคนหนึ่ง เพลโต (Plato)

แล้ว เพลโต (Plato) เป็นใคร ?  ถามแบบคนไม่ได้เรียนสายนี้

              ก็ต้องเอามาตอบต่อว่า เพลโต (Plato) เป็นนักปรัชญาที่ยิ่งใหญ่ผู้หนึ่งของกรีกและของโลก อีกทั้งเป็นบุคคลแรกของประวัติศาสตร์โลก ที่สร้างปรัชญาขึ้นมาอย่างมีระบบ มีความสมบูรณ์ และมีขอบข่ายกว้างขวางครอบคลุมเรื่องต่าง ๆ ได้เป็นอย่างดี ทั้งนี้เพราะเพลโตได้นำเอาจุดเด่นของนักปรัชญากรีกที่สำคัญ ๆ มาเชื่อมต่ออธิบายอย่างเป็นระบบ โดยเพลโตถือว่าโลกมีอยู่ 2 โลก คือ โลกแห่งวัตถุ (Material World) ซึ่งเป็นโลกที่รู้ได้ทางประสาทสัมผัส คือทางตา หู จมูก ลิ้น และกาย เหล่านี้ทำให้มนุษย์รู้รูป เสียง กลิ่น รส และสัมผัส ซึ่งเพลโตถือว่าเป็นโลกแห่งผัสสะ (Sensible World) ซึ่งโลกแห่งวัตถุนี้เป็นสิ่งที่มีอยู่เพียงชั่วคราว มีแล้วก็เปลี่ยนแปลงไปไม่คงที่ (Subjective Reality) เป็นโลกแห่งมายาที่ไม่จริงแท้ ซึ่งเป็นโลกแห่งความไม่สมบูรณ์ 

เพลโตได้ก่อตั้งโรงเรียนขึ้นและกลายมาเป็นต้นแบบให้สถานศึกษาระดับสูงในยุคปัจจุบัน ผู้คนในยุคสมัยนั้นยกย่องเพลโตว่าเป็น “สุดยอดแห่งปรมาจารย์-The Divine Teacher”  งานเขียนของเขาได้บรรยายถึงโครงสร้างทางสังคมในอุดมคติและความเป็นนิรันดร์ของจิตวิญญาณ เพลโต (Plato) นักคิดผู้มีชีวิตอยู่ในสมัยกรีก กล่าวไว้ว่า “เวลาเป็นเพียงการเคลื่อนไหวของความเป็นนิรันดร: Time is a Moving Image of Eternity”

              เมื่อยกโสเครติส เพลโตมาแล้ว ก็ต้องมีบุคคลที่เนื่องต่อด้วย เพราะในตอนเริ่มต้น จั่วหัวไว้ พูดถึง 3 คน ก็แปลว่ากล่าวและยกมายังไม่ครบทั้ง 3 คน แล้วใครอีกคนละ ก็ต้องตอบว่า อริสโตเติล

ผลการค้นหารูปภาพสำหรับ PLATO IN PARLIAMENT ATHEN

ภาพที่ 15 นักปรัชญาสำคัญของกรีกโบราณ โสเครติส (ขวา) เพลโต (ซ้าย) หน้าอาคาร Academy of
 Athens หน่วยงานร่วมของ University of Athens ที่ผู้เขียนไปร่วมเสนองานสัมมนาทาง 
 วิชาการระหว่าง 21-23 มิถุนายน 2561   

ก็ต้องถามต่อไปว่า อริสโตเติล (Aristotle) เป็นใคร

      อริสโตเติล (Aristotle, 384 ปีก่อนคริสตกาล – 7 มีนาคม 322 ปีก่อนคริสตกาล) เป็นนักปรัชญากรีกโบราณ เป็นลูกศิษย์ของเพลโต และเป็นอาจารย์ของอเล็กซานเดอร์มหาราช (Alexander the Great, 356-233 ปีก่อน ค.ศ.) อริสโตเติล และเพลโตได้รับยกย่องให้เป็นหนึ่งในนักปรัชญาที่มีอิทธิพลสูงที่สุดคนหนึ่งในโลกตะวันตก ด้วยผลงานเขียนหนังสือ  

      อริสโตเติลเป็นหนึ่งในไม่กี่บุคคลในประวัติศาสตร์ที่ได้ศึกษาแทบทุกสาขาวิชาที่มีในช่วงเวลาของเขา ในสาขาวิทยาศาสตร์ อริสโตเติลได้ศึกษา กายวิภาคศาสตร์  ดาราศาสตร์  วิทยาเอ็มบริโอภูมิศาสตร์ ธรณีวิทยา อุตุนิยมวิทยา ฟิสิกส์และสัตววิทยา ในด้านปรัชญาอริสโตเติลเขียนเกี่ยวกับ สุนทรียศาสตร์ เศรษฐศาสตร์ จริยศาสตร์  การปกครอง อภิปรัชญา การเมือง จิตวิทยาวาทศิลป์และ เทววิทยา เขายังสนใจเกี่ยวกับศึกษาศาสตร์ ประเพณีต่างถิ่น วรรณกรรม และ กวีนิพนธ์ ผลงานของเขาเมื่อรวบรวมเข้าด้วยกันแล้ว สามารถจัดว่าเป็นสารานุกรมของความรู้สมัยกรีก

        นักปรัชญากรีกโบราณที่ยิ่งใหญ่ที่สุดคืออริสโตเติล เพลโต (อาจารย์ของอริสโตเติล) และ    โสเครตีส  (ที่แนวคิดของเขานั้นมีอิทธิพลอย่างสูงกับเพลโต) พวกเขาได้เปลี่ยนโฉมหน้าของปรัชญากรีก สมัยก่อนโสเครตีส  จนกลายเป็นรากฐานสำคัญของปรัชญาตะวันตกในลักษณะปัจจุบัน โสเครตีส นั้นไม่ได้เขียนอะไรทิ้งไว้เลย ทั้งนี้เนื่องจากผลของแนวคิดปรากฏในบทสนทนาของเพลโตชื่อ เฟดรัส (Phaedrus) เราได้ศึกษาแนวคิดของเขาผ่านทางงานเขียนของเพลโตและนักเขียนคนอื่น ๆ ผลงานของเพลโต และอริสโตเติลเป็นแก่นของปรัชญาโบราณ

การเสนอผลงานทางวิชาการที่ University of Athens

              เล่าเรื่องเกี่ยวเนื่องเสียยาว ก็ต้องวกกลับมาที่ภารกิจของการเดินทางในครั้งนี้ การเข้าร่วมงานเป็นเหตุผลในการเดินทางร่วมงานที่ Athens ในครั้งนี้  สำหรับการนำเสนองานที่มหาวิทยาลัย Athens ในครั้งนี้ เกิดจากการที่ผู้เขียนมีเครือข่ายเป็นงานสัมมนาและเข้าร่วมในแต่ละที่ในแต่ละครั้ง ที่มีการหมุนเวียนไปจัดในหลาย ๆ ประเทศ เช่น อังกฤษ การประชุมวิชาการระดับนานาชาติครั้งที่ 19 (The Nineteenth International Conference on Learning) ณ มหาวิทยาลัยลอนดอน ประเทศอังกฤษ ระหว่างวันที่ 14 – 16 สิงหาคม 2555  สหรัฐอเมริกา การประชุมวิชาการระดับนานาชาติครั้งที่ 21 (The Twenty-first International Conference on Learning) ณ วิทยาลัย Touro มลรัฐนิวยอร์ค ประเทศสหรัฐอเมริกา ระหว่างวันที่ 14 – 17 กรกฎาคม 2557 เป็นต้น และในแต่ละครั้งผู้เขียนก็ได้มีโอกาสและประสบการณ์ในการเข้าร่วมเสนองานตามโอกาส และในครั้งนี้ก็ได้เข้าร่วมด้วยเช่นกัน โดยผลงานก็มี 3 ชิ้นงานดังที่เล่าแจ้งไว้ในตอนแรก ๆ แต่สาระสำคัญของการเดินทางคือ (1) ได้เผยแผ่องค์ความรู้ ตามที่ได้ทำการศึกษาวิจัยไว้ อันเป็นภาระงานของศูนย์อาเซียนศึกษาโดยตรง (2) ได้สร้างเครือข่ายให้กับมหาวิทยาลัยในเวทีวิชาการระดับนานาชาติ และ (3) ประกาศเกียรติคุณของมหาวิทยาลัย ให้ปรากฏต่อสาธารณะ  เพราะทุกครั้งที่ผู้เขียนร่วมนำเสนองาน จะถูกตั้งคำถามว่า ทำไมมหาวิทยาลัยของคุณทำไมชื่อยาวจัง ออกเสียงอย่างไร ผู้เขียนก็จะแจ้งว่าเป็นมหาวิทยาลัยพระพุทธศาสนา มหาวิทยาลัยของชาวพุทธ และก่อตั้งโดยอดีตบูรพกษัตริย์ไทย ซึ่งก็จะง่ายและสื่อสารเพื่อความเข้าใจตรงกัน และ (4) ได้นำผลงานไปสู่เวทีนานาชาติ ในนามบุคลากรของมหาวิทยาลัย ก็จะทำให้เกิดผลในทางปฏิบัติตามการประเมินผลในการจัดอันดับของมหาวิทยาลัยภายใต้เกณฑ์หรือมาตรฐานสากลได้

              จากที่เกริ่นมาการนำเสนองานในเวทีนานาชาติก็คงไม่แตกต่างกันในเชิงพื้นที่ไม่ว่าที่ใดแหล่งใด รูปแบบจะคล้าย ๆ กัน แต่สิ่งที่สำคัญและจำเป็นคือการสร้างองค์ความรู้ให้เกิดขึ้นในเวทีสาธารณะและเวทีนานาชาติ ดังที่ผู้เขียนได้ไปร่วมนำเสนอผลงานวิจัยในการประชุมวิชาการระดับนานาชาติครั้งที่ 25 (The Twenty-Fifth International Conference on Learning)  ณ University of Athens Athens, ประเทศกรีซ ในระหว่างวันที่ 21–23 มิถุนายน 2561 โดยมีสมาชิกผู้เข้าร่วมงานจำนวนมาก จากนานาประเทศ ทั้งสหรัฐอเมริกา อังกฤษ แคนาดา ฝั่งยุโรปก็อีกหลากหลายประเทศ รวมทั้งอเมริกาใต้ เปรู และบราซิล ส่วนจากเอเชีย จะมีเพียงผู้เขียนกับชาวฟิลิปปินส์ อิหร่าน และตุรกี เป็นต้น ซึ่งสะท้อนให้เห็นถึงการเรียนรู้ แลกเปลี่ยน เครือข่ายและประสบการณ์ของการนำเสนอองค์ความรู้ของแต่ละท่านร่วมกัน

ในภาพอาจจะมี 1 คน, กำลังยิ้ม, กำลังยืน

ในภาพอาจจะมี 5 คน, คนที่ยิ้ม, ผู้คนกำลังยืน

ในภาพอาจจะมี 2 คน, คนที่ยิ้ม, ผู้คนกำลังยืน

ไม่มีคำอธิบายรูปภาพ

ภาพที่ 16 ผู้เขียนในการนำเสนอผลงานวิจัยในงานสัมมนาชาติ the twenty-fifth International conference on learning ที่มหาวิทยาลัย University of Athens, Greece, เมื่อ on 23rd June 2018 นำเสนอผลการวิจัยในเรื่อง (1) Trends of Education Management for Unity and Peace of Countries in ASEAN Community (2) Education Management in Past and Present in ASEAN Community (3) A Model of Leadership Development for Leaning Organization of Universities in Thailand (ที่มา: ผู้เขียน, 22-23 มิถุนายน 2561)

ถอดบทเรียน/ประสบการณ์การเดินทาง

              จากประสบการณ์การเดินทางประเทศที่มีประวัติศาสตร์ อารยธรรม และภูมิปัญญาในอดีต และเกี่ยวข้องกับภูมิปัญญาความคิด หรือเป็นรากของความคิดทางด้านรัฐศาสตร์ การเมือง และนักคิดสำคัญของโลก อย่างอริสโตเติล เพลโต โสเครตีส รวมไปถึงพัฒนาการของการอารยธรรมกรีก สู่อารยธรรมพระพุทธศาสนา พระพุทธรูป และวรรณกรรมเลื่องชื่อ มิลินทปัญญา ทำให้เห็นการไหลบ่าของอารยธรรมความรู้จากพื้นที่หนึ่งไปยังพื้นที่หนึ่ง กับการเชื่อมโยงทั้งในทางประวัติศาสตร์ วัฒนธรรม ประเพณีและวิถีชีวิตกับการหยิบยืมของกันและกัน ไม่มีสิ่งใดจริงแท้ มีแต่ความจริงในเชิงการเรียนรู้และพัฒนาจากยุคสู่ยุครุ่นสู่รุ่นเสียมากกว่า ซึ่งในการเดินทางครั้งนี้อาจบันทึกถอดบทเรียนร่วมกันได้ คือ

  1. ทุกการเดินทางจะได้ประสบการณ์ของการเดินทางและการเรียนรู้ของผู้เดินทาง ดังกรณีผู้เขียนเดินทางจากไทยเปลี่ยนเครื่องที่อิสตันบูล แล้วต่อเครื่องจากอิสตันบูลไปพักค้างคืนที่อิตาลี รวมทั้งเพื่อให้ได้วีซ่าจากการเดินทางเพื่อเข้าเอเธนส์ กรีกในวันต่อไป และว่าถ้าไม่ลองทำดู ไม่ใช้วิธีการแบบนี้ก็จะไม่ทราบได้ว่ามีรูปแบบและแนวทางแบบนี้ได้เพียงแต่ไม่เป็นที่นิยม
  2. ผู้เขียนไม่ได้ขอวีซ่าไปก่อนจากประเทศไทย แต่ใช้สิทธิ์ของวีซ่า Changen จากประเทศอิตาลีและเดินทางต่อไปยังเอเธนส์ และในการเดินทางกลับก็ใช้เส้นทางดังกล่าว นับเป็นประสบการณ์จากการเดินทางและการเรียนรู้จากการเดินทางด้วยเช่นกัน
  3. ผู้เขียนมีประสบการณ์ของการไม่ได้ Check in Online ตั๋วก่อนเดินทางระหว่างสนามบินโรม ไปสนามบินเอเธนส์ ปรากฏว่าสายการบิน Rynair สายการบินราคาถูกสัญชาติไอร์แลนด์ ไม่มีเคาเตอร์ให้เช็คอิน ต้องเช็คจากระบบ Web Online เท่านั้น ทำให้ต้องเสียค่าธรรมเนียม ในการเช็คอิน และทำให้เกิดความล่าช้าในการเดินทางแต่ก็นับเป็นประสบการณ์สำหรับผู้เขียนโดยตรง เรียนรู้จากหน้างานผ่านสถานการณ์จริงเสียเงินได้ความรู้ เวลาล่าช้าไปอีกเล็กน้อย
  4. พัฒนาการของอารยธรรมและความเชื่อมต่อทางอารยธรรมของพระพุทธศาสนาในอดีตเชื่อมต่อกับพัฒนาการทางประวัติอย่างต่อเนื่อง นัยหนึ่งเป็นการผสมผสานให้เกิดการเรียนรู้อย่างใหม่ ประสบการณ์อย่างใหม่ และกลไกอย่างใหม่ต่อธรรมเนียมประเพณีวิถีชีวิต แต่อีกนัยหนึ่งทำให้เกิดพัฒนาการในสิ่งใหม่ หรืออย่างใหม่ ดังกรณีพระพุทธรูป รูปเคารพในศาสนา การห่มผ้า ครองจีวรของพระ ที่กลายเป็นอารยธรรม ประเพณีของประชาคมชาวพุทธทั่วโลก ในแบบของชาวพุทธ หรือองค์ความรู้ทางด้านการเมือง การปกครอง คณิตศาสตร์ วิทยาศาสตร์ สถาปัตยกรรม และอื่น ๆ ที่เชื่อมจากอดีต ถึงปัจจุบันส่วนหนึ่งมีกำเนิดมาจากดินแดนเอเธนส์ กรีกแห่งนี้ด้วยเช่นกัน

ดังนั้น จากบันทึกการเดินทางนี้เป็นการบันทึกจากพื้นที่ เป็นประสบการณ์ร่วมจากการเดินทางของผู้เขียนในครั้งนี้ด้วยเช่นกัน และคาดว่าจะเป็นประโยชน์สำหรับผู้สนใจด้านพื้นที่ศึกษาและอารยธรรมกรีก จึงนำมาถอดเป็นบันทึกการเดินทางกึ่งวิชาการเพื่อเล่าแบ่งปันตามข้อมูลเชิงประจักษ์จากหลายแหล่งดังที่ปรากฏ

 

บันทึกขอบคุณ

              ขอกราบขอบพระคุณผู้บริหารศูนย์อาเซียนศึกษา ที่อนุญาตให้ผู้เขียนได้เดินทางไปนำเสนอผลงานวิจัยเพื่อประกาศเกียรติคุณของมหาวิทยาลัยในเวทีนานาชาติ โดยมี พระราชวรเมธี, ดร. รักษาการผู้อำนวยการศูนย์อาเซียนศึกษา (สมณศักดิ์: พระเทพปวรเมธี, รศ.ดร. 28  กรกฎาคม 2562) และพระศรีธวัชเมธี รองผู้อำนวยการศูนย์อาเซียนศึกษา (ในขณะนั้น) รวมทั้งนางสาวมุกรวี ฉิมพะเนาว์ บุคลากรศูนย์อาเซียนศึกษา ที่อำนวยความสะดวกในการจองที่พักในที่กรุงโรม และเอเธนส์ รวมทั้งจองตั๋วสายการบินภายในระหว่างอิตาลีและกรุงเอเธนส์ กรีก ทำให้การเดินทางเส้นทางสายยาว “กรุงเทพฯ-อิสตันบูล-โรม-เอเธนส์” สำเร็จและไม่ประสบปัญหาระหว่างเดินทางนัก นับเป็นความน่าประทับใจ รวมทั้งได้องค์ความรู้จากพื้นที่ มาแบ่งปันในรูปแบบของบันทึกการเดินทาง การศึกษาเชิงพื้นที่ จากการร่วมเสนองานในครั้งนี้ด้วย ขอขอบคุณในการช่วยอำนวยความสะดวกในครั้งนี้

 

รายการอ้างอิง

สุจิตต์ วงศ์เทศ. (2535). อัฟกานิสถาน แหล่งผลิตพระพุทธรูปองค์แรกในโลก. กรุงเทพมหานคร: มติชน.

Gauranga Nath Banerjee. (1961). Hellenism in ancient India. Delhi: Munshi Ram Manohar Lal.

Kelly, J. (2005). Milindapañha: The Questions of King Milinda (excepts), Access to Insight.

Marshall, S. J. (1960). The Buddhist art of GandharaISBN 81-215-0967-X.

Mendis, N.K.G. (1993). The Questions of King Milinda: An Abridgement of the Milindapanha. Kandy, Sri Lanka: Buddhist Publication Society, 1993 (repr. 2001). Based on Horner (1963–64).

Pesala, Bhikkhu. (1992). The Debate of King Milinda: An Abridgement of the Milindapanha. Delhi: Motilal Banarsidass, 1992. Based on Rhys Davids (1890, 1894).

Tarn, W.W. (1966).The Greeks in Bactria and India. Cambridge University Press.

Thomas, R. D. (1894). The questions of King Milinda, Part 2, The Clarendon press.

Wenzel, M. (2000). Echoes of Alexander the Great: Silk route portraits from Gandhara (Eklisa Anstalt, 2000).

 

ทิ้งคำตอบไว้

Please enter your comment!
Please enter your name here