บันทึกเรื่องเล่าที่สวิตเซอร์แลนด์ : การจัดการท่องเที่ยว พระพุทธศาสนา และเจ้าฟ้าจากประเทศไทย Traveling Record in Switzerland  : Tourist Management, Buddhism and Royal Family from Thailand

0
3785

บันทึกเรื่องเล่าที่สวิตเซอร์แลนด์ : การจัดการท่องเที่ยว พระพุทธศาสนา และเจ้าฟ้าจากประเทศไทย
Traveling Record in Switzerland  : Tourist Management, Buddhism and Royal Family from Thailand

ดร.ลำพอง กลมกูลIDr.Lampong Klomkul
ผู้อำนวยการส่วนงานวิจัย สารสนเทศ และบริการวิชาการ ศูนย์อาเซียนศึกษา
มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย จ.พระนครศรีอยุธยา

บทคัดย่อ     

บทความนี้เป็นบทความกึ่งสารคดีวิชาการ ที่มีวัตถุประสงค์เพื่อบันทึกการเดินทางในประเทศสวิตเซอร์แลนด์ ระหว่างวันที่ 25-30 เมษายน 2562 ใช้วิธีการศึกษาเชิงพื้นที่ การสังเกต การสัมภาษณ์ และค้นคว้าเอกสารงานวิจัยที่เกี่ยวข้อง นำมาเขียนเป็นความเรียงบันทึกเล่าภายใต้การสะท้อนคิดการจัดการท่องเที่ยวที่มีรายได้สูงสุดของประเทศในอุตสาหกรรมการบริการ ท่องเที่ยว  ในส่วนพระพุทธศาสนาสวิตเป็นอีกหนึ่งประเทศที่มีประชากรนับถือพุทธศาสนาที่มีสถิติ หรือกว่า 2 หมื่นกว่าคนในจำนวนประชากรทั้งหมด โดยเริ่มจากศึกษาในแบบศาสตร์และนำไปสู่ความสนใจนับถือ และพัฒนาเป็นพระพุทธศาสนาในแบบกลุ่มชาติพันธุ์ที่อพยพเข้าไปตั้งถิ่นฐานใช้ชีวิตในแบบพุทธไทย ธิเบต เกาหลี และเขมร ผ่านวัดและศาสนสถานที่จัดตั้งขึ้น นอกจากนี้สวิตยังเคยเป็นที่พำนักของยุวกษัตริย์ไทย กว่า 18 ปี ถึงสองพระองค์ บ่มเพาะ เรียนรู้ พัฒนา พัฒนาสู่ความเป็นกษัตริย์ในบริบทของสังคมไทย

คำสำคัญ : การจัดการท่องเที่ยว,พระพุทธศาสนา,ประเทศสวิตเซอแลนด์

Abstract

This article is a semi-academic article. That is intended to record travel in Switzerland Between 25-30 April 2019, using spatial study methods, observations, interviews and researching relevant research papers Is written in a sort of memoir under the reflection of the highest income tourism management of the country in the tourism service industry. As for Swiss Buddhism, it is another country with a population that respects Buddhism with statistics or More than twenty thousand people in the total population By starting from studying in the science and leading to respect And developed into a Buddhist ethnic group that migrated to settle in Thailand, Tibetan, Korean and Khmer Buddhism through established temples and religious places In addition, Swiss has been the home of two 18-year-old Thai youths, cultivating, learning, developing to become king in the context of Thai society.

Keywords : Tourist Management, Buddhism, Switzerland

ความนำ

ในโอกาสเดินทางไปประเทศสวิตเซอแลนด์ ระหว่าง 25-30 เมษายน 2562 จึงใช้โอกาสนี้บันทึกความทรงจำ เพื่อแสวงหาความรู้จากสิ่งที่พบเห็นจากการเดินทาง ประหนึ่งทวนย้อนระลึกความหลัง คราวที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 5 (พ.ศ.2411-2453/1868-1910) เสด็จประพาสยุโรป ครั้งที่ 1 พ.ศ.2440 (7 เมษายน-16 ธันวาคม 2440 รวม  253 วัน) และครั้งที่ 2 พ.ศ.2450 ที่รวมเวลา 7 เดือน/225 วัน (17 มีนาคม-27 พฤศจิกายน 2450) ดังปรากฏในพระราชนิพนธ์เรื่อง “ไกลบ้าน” และเสด็จประพาสสวิตด้วยทั้ง 2 ครั้ง ดังบันทึก ที่เกิดขึ้นเมื่อวันศุกร์ที่ 24 พฤษภาคม รัตนโกสินทรศก 126 (พ.ศ.2450) ดังประโยคนิพนธ์ในหนังสือที่ว่า “…เวลาก่อน 4 โมงครึ่งไปขึ้นรถไฟที่สเตชั่น รถนี้เปลี่ยนใหม่เปนรถสวิตเซอแลนด์ เบาะเปนกำมหยี่แดง กว้างขึ้นนอนค่อยสบาย รถออกเวลา 4 โมงครึ่ง..”  ซึ่งเป็นข้อมูลการเดินทางสวิต แก่นักเดินทางชาวไทยในรุ่นหลัง   ๆ ได้ตามรอยเส้นทางประพาสของพระองค์ หรือบันทึกความทรงจำของเจ้าฟ้า ราชนิกุล ดังพระราชนิพนธ์เรื่อง “แม่เล่าให้ฟัง” (2525) ของ สมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอ เจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนา (พ.ศ.2466–2551/1923-2008)  ที่บันทึกข้อมูลว่า “..น้องชายคนโตไม่แข็งแรง แม่เลยคิดว่าควรไปอยู่ต่างประเทศที่มีอากาศสบายๆ เสด็จลุงทรงแนะให้ไปสวิตเซอร์แลนด์ …ต้นเดือนเมษายน 2476 แม่กับลูกสามคน พร้อมแหนนและบุญเรือน ก็ออกเดินทางด้วยรถไฟไปปีนัง แล้วลงเรืออเมริกันเพรสซิเดนต์เพียร์ซ ไปขึ้นที่เจนัว และต่อรถไฟไปโลซานน์ …”  โดยการพำนักอยู่ในประเทศสวิต ในช่วงปี พ.ศ. 2467/1924 ถึง พ.ศ. 2494/1951 อันส่งผลเป็นความสัมพันธ์ระหว่างประเทศผ่านการเสด็จประพาสสวิตของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 9 อย่างเป็นทางการเมื่อ ระหว่าง 29-31 สิงหาคม 2503/1960 นับแต่เสด็จนิวัติกลับอย่างถาวรเมื่อ พ.ศ.2494/1951 ทั้งยังมีการการสร้างศาลาไทย เพื่อเป็นอนุสรณ์สำหรับการพำนักอยู่ในเมืองโลซานเป็นเวลากว่า 18 ปี ของราชวงศ์ไทย การสร้างวัดศรีนครินทรวราราม เมืองชูริก  เฉลิมพระพระนาม “สมเด็จย่า-ศรีนครินทราราม” นัยหนึ่งเพื่อรำลึกถึงภาระกิจของเจ้าฟ้า เจ้าแผ่นดิน กับการพำนักอยู่ในสวิต ทั้งเป็นการประกาศพระพุทธศาสนา แสดงอัตลักษณ์เพื่อเป็น “สรณะ” ของชาวพุทธ และชาวไทยในสวิต จากการเดินทางครั้งนี้จึงบันทึกเล่าสิ่งที่เห็นจากการเดินทาง ที่สะท้อนถึงมิติของการท่องเที่ยว ความสำคัญของพื้นที่และความเกี่ยวเนื่องในมิติของความเหมือนต่าง ของประเทศในยุโรป ที่ได้ชื่อว่าประเทศที่พลเมืองส่วนใหญ่มีความสุข มีคุณภาพชีวิตที่ดี รวมไปถึงมีการจัดการท่องเที่ยวที่เอื้อต่อพลเมืองในองค์รวม และเป็นตำนานของนักเดินทางทั่วโลกที่ประสงค์หรือไฝ่ฝันจะเดินมาเที่ยวท่องกันด้วย ดังนั้นบันทึกการเดินทางนี้จึงเป็นตัวแทนความรู้ และประสบการณ์เดินทางในประเทศสวิตเซอแลนด์ในช่วงสั้น ๆ ของผู้เขียน ที่เป็นทั้งความประทับใจ และการเรียนรู้ที่จะนำมาเล่าแบ่งปันไปพร้อม ๆ กัน

 

เจ้าฟ้าเจ้าแผ่นดินกับประเทศสวิตเซอแลนด์  

          ประเทศสวิตมีความสำคัญและเกี่ยวข้องกับประเทศไทย ที่สำคัญในทางประวัติศาสตร์ของราชสกุลเจ้าฟ้าเจ้าแผ่นดิน กล่าวคือเหตุการณ์ที่ 1 เมื่อคราวที่ล้นเกล้ารัชกาลที่ 5 เสด็จประพาสยุโรป ถึง 2 ครั้งในรอบ 10 ปี คือ พ.ศ.2440/1897 (ครั้งที่ 1) และ พ.ศ.2450/1907 (ครั้งที่ 2) ทั้งได้บันทึกไว้ในพระราชนิพนธ์เรื่อง “ไกลบ้าน” ที่เป็นสัญลักษณ์ของการเดินทางและความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ หรือเหตุการณ์ที่ 2 การที่ครอบครัวเจ้าฟ้า “ยุวกษัตริย์” สยามได้มาพำนักดำเนินชีวิตในสวิต รวมเวลากว่า 18 ปี นับแต่ยังทรงพระเยาว์ ดังปรากฏในพระราชนิพนธ์เรื่อง “แม่เล่าให้ฟัง” ของสมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอ กัลยาณิวัฒนา ที่ให้ข้อมูลว่า

“…..เริ่มตั้งแต่ สมเด็จพระบรมราชชนก ทรงอภิเษกสมรสกับหม่อมสังวาลย์ เมื่อ 9 ตุลาคม 2463 จากนั้นได้เดินทางผ่านยุโรป โดยทรงแวะที่เมืองโลซานน์ สวิตเซอร์แลนด์ ซึ่งถูกเลือกเป็นสถานที่แวะเที่ยวในระหว่างที่สมเด็จพระชนกประชุมและดูงานด้านการแพทย์และสาธารณสุข รวมทั้งเมืองนี้ยังเป็นสถานที่พำนักชั่วคราวของพระชนนี และพระโอรส- ธิดาในระหว่างที่ต้องอยู่กันโดยลำพัง เมื่อพระชนกเสด็จกลับประเทศไทยในคราวถวายพระเพลิงพระบรมศพ รัชกาลที่ 6 เมื่อพ.ศ.2467 และเมืองโลซานน์ ถูกเลือกเป็นที่ประทับถาวรระหว่างของในหลวง 2 พระองค์ในปี 2476-2488 ซึ่งมีพระชนนีเป็นผู้นำครอบครัวเพียงลำพังในการอภิบาลพระธิดาและพระโอรสที่เป็นในหลวงของชาวไทย 2 พระองค์ โลซานน์..จึงเป็นเมืองที่เรา”เที่ยวจนอิ่ม(ใจ)”…สำหรับการเสด็จไปสวิตเซอร์แลนด์ของราชสกุล”มหิดล”ในครั้งนั้น เป็นไปตามพระประสงค์ของสมเด็จพระพันวัสสาอัยยิกาเจ้า ที่ทรงห่วงถึงการศึกษาของพระราชนัดดา รวมทั้งพระราชนัดดาองค์ที่ 2 (รัชกาลที่ 8) ทรงมีพระพลามัยไม่แข็งแรงมาตลอด จึงเห็นว่าควรเสด็จฯไปศึกษาในประเทศซึ่งมีอากาศสบายๆ ซึ่งพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมขุนชัยนาทนเรนทร ทรงแนะนำว่าควรเลือกเมืองโลซานน์ และสมเด็จพระบรมราชชนนีก็ทรงพอพระทัย เป็นที่รู้กันว่า นอกจากเป็นเมืองที่มีอากาศดี ภูมิประเทศสวยงาม และพลเมืองอัธยาศัยดีแล้ว “โลซานน์”ยังเป็นเมืองที่สมเด็จพระบรมราชชนกทรงโปรดมาก ตั้งแต่ครั้งที่เสด็จฯไปดูงานและศึกษาด้านสาธารณสุข….”           การเสด็จไปประทับครั้งนั้น หม่อมสังวาลย์ (พระยศของสมเด็จย่าในขณะนั้น) พร้อมด้วยพระราชโอรสธิดา พระพี่เลี้ยงเนื่อง เด็กหญิงบุญเรือน โสพจน์(ท่านผู้หญิงบุญเรือน ชุณหะวัณ) และคุณพระสุทธิอรรถนฤมล กับภรรยา ได้ร่วมออกเดินทางโดยออกจากประเทศไทยในเดือนเมษายน 2476 และทั้ง 4 พระองค์ประทับอยู่ที่นั่นจนกระทั่งปี 2488 เมื่อรัชกาลที่ 8 เสด็จนิวัติพระนคร และปี 2494 พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เสด็จนิวัติพระนครเป็นการถาวร พร้อมสมเด็จพระนางเจ้าฯพระบรมราชินี และพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าอุบลรัตนราชกัญญา…”

จากข้อมูลยืนยันได้ว่า การพำนักอยู่ของราชวงศ์ไทย ที่ปรากฏเป็นข้อมูลว่าเป็นทั้งที่พำนักดำเนินชีวิต บ่มเพาะ และการขัดเกลาเยาวชนที่ต้องเข้ารับการศึกษาที่เมืองโลซาน  ดังนั้นศาลาไทยเฉลิมพระเกียรติ (Le Pavillon Thailandais) ศาลาทรงจัตุรมุขสร้างด้วยไม้สักและไม้เนื้อแข็ง ในสวนสาธารณะเดอนองตู (Le Denantou) สร้างขึ้นเมื่อปี พ.ศ. 2549 เพื่อเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช ทรงครองราชสมบัติครบ 60 ปี และครบรอบ 75 ปี แห่งการสถาปนาความสัมพันธ์ระหว่างไทยและสวิต

 

ผลการค้นหารูปภาพสำหรับ แม่เล่าให้ฟัง

ภาพที่ 1 ผลงานนิพนธ์ของล้นเกล้ารัชกาลที่ 5 (ซ้าย) ในคราวเสด็จประพาสยุโรป ในปี พ.ศ.2450 ผ่านบันทึกเรื่องเล่าในสวิต (ขวา) และการบันทึกเรื่องเล่าการดำเนินชีวิตอยู่ในสวิตของยุวกษัตริย์ถึง 2 พระองค์  (ภาพออนไลน์ 30 เมษายน 2562)

ผลการค้นหารูปภาพสำหรับ โลซาน เจ้าฟ้า

ภาพที่ 2 สมาชิกราชสกุลมหิดล: สมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอ เจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนา กรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์ – สมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวอานันทมหิดล – สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช เมื่อครั้งประทับอยู่ที่เมืองโลซานน์ ประเทศสวิตเซอร์แลนด์ (ภาพออนไลน์ 25 เมษายน 2562)

 

ดังนั้นจากภาพที่นำมาประกอบ 1-2 จึงเป็นข้อมูลที่เนื่องด้วยพระเจ้าแผ่นดินสยาม รัชกาลที่ 5 ที่ครั้งหนึ่งเคยเดินทางไปยังสวิตดำเนินความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ รวมไปถึงเจ้าฟ้าจากสยามไปพำนักดำเนินชีวิต ศึกษาอยู่ในต่างแดน ที่ทำให้ได้ประสบการณ์ ที่สอดคล้องสมกับวัยของการเรียนรู้  รวมทั้งเป็นกลไกทางการทูตเชื่อมประสานระหว่างรัฐไทยกับสวิตที่เกิดขึ้นมาอย่างต่อเนื่องยาวนาน จนกระทั่งมีการสร้างศาลาไทย ที่เมืองโลซาน เพื่อเฉลิมเฉลิมพระเกียรติ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 9 ซึ่งเป็นเครื่องหมายของความสัมพันธ์อันดีระหว่างไทยและสวิต  และการจัดสร้างวัดในพระพุทธศาสนา เพื่อส่งเสริมการเผยแผ่พระพุทธศาสนา  ดังปรากฏเป็นวัดศรีนครินทรวรารามในปัจจุบัน

พระพุทธศาสนาในสวิต

          เริ่มเรื่องเนื่องด้วยพระพุทธศาสนา ข้อมูลเกี่ยวกับพัฒนาการและประวัติของพระพุทธศาสนาในประเทศนี้ซึ่งได้ข้อมูลว่า Max Ladner (ค.ศ.1889-1963/2432-2506) ได้ก่อตั้งโดยกลุ่มชาวพุทธในเมืองซูริคในปี 1942/2485 ในปี 1948/2491  Ladner ได้ตีพิมพ์วารสารศาสนาพุทธ “Die Einsicht” รวมทั้งเขาเองก็เขียนหนังสือเกี่ยวกับพระพุทธศาสนาในภาษาเยอรมันจำนวนมาก อาทิ Gotamo Buddha, (1948) Die Lehre des Buddha (1946)  , Nietzsche und der Buddhismus (1933)  รวมทั้ง ใน ค.ศ.1978 ได้มีการก่อตั้งสหภาพชาวพุทธสวิต (Schweizerische Buddhische Union/Union Suisse des Bouddhistes/Unione Buddhista Svizzera) ที่ก่อตั้งขึ้นโดย Mirko Fryba (ค.ศ.1943-2016/2486-2559) นักจิตวิทยาชาวเช็ก ที่เคยบวชและศึกษาพระพุทธศาสนาในศรีลังกา เขียนหนังสือเกี่ยวกับพระพุทธศาสนา อาทิ Art of Happiness : Teachings of Buddhist Psychology (1989), Practice of Happiness: Excercises and Techniques for Developing Mindfullness Wisdom and Joy (1996), และที่เขียนเป็นภาษาเยอรมัน  Anleitung zum Glücklichsein: Die Psychologie des Abhidharma (1987) Abhidhamma im Überblick : Texte der hohen Lehre des Buddha (1990) เป็นต้น นอกจากนี้ยังมีงานเขียนของคาร์ล กุสตาฟ จุง  นักจิตวิทยาชาวสวิต ที่ศึกษาและนำมาใช้ในการเขียนหนังสือ สอนและใช้ ทำให้พระพุทธศาสนาเป็นที่สนใจและมีคนศึกษามากขึ้น  รวมไปถึง Nyanatiloka Mahathera (ค.ศ.1878-1957/2417-2500) ชาวเยอรมันที่ประกาศตนเป็นชาวพุทธ รวมทั้งบวชศึกษาพระพุทธศาสนาและมรณภาพในศรีลังกาจนวาระสุดท้ายของชีวิต โดยในช่วงแรก ๆ ได้ดำริที่จะสร้างวัดเพื่อการเผยแผ่พระพุทธศาสนาในสวิตเซอร์แลนด์แต่ก็ไม่ประสบผลนัก นอกจากนี้ยังมีกลุ่มชาวพุทธธิเบตที่เริ่มจากการอพยพเข้ามาตั้งถิ่นฐานในสวิต นำโดย  Geshe Rabten Rinpoche (ค.ศ.1921–1986/2464-2529) ก่อตั้งขึ้นในปี ค.ศ.1977/2520 ในเมือง Mont Pèlerin ซึ่งเป็นวัดและศูนย์การศึกษาสำหรับพระสงฆ์ชาวยุโรปแม่ชีและคนทั่วไป สวิตเซอร์แลนด์ยังมีอารามทิเบต พุทธและเซนในหมู่พวกเขาสถาบันทิเบต Rikon ตั้งอยู่ใน Zell-Rikon im Tösstal ในหุบเขา Töss ในตำบล Zürich ในส่วนพุทธศาสนาเถรวาทเกิดขึ้นในช่วงปี พ.ศ.2546/2003 มีวัดศรีนครินทรวราราม ในเกรทเซินบาค ที่อุปถัมภ์จัดสร้างโดยสมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอ เจ้าฟ้ากัลยานิวัฒนา  (พ.ศ.2466-2551/1923-2008) พระธิดาองใหญ่ ของสมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี (พ.ศ.2443-2538/1900-1995) หรือสมเด็จย่า ร่วมกับชุมชนชาวพุทธร่วมกันจัดสร้าง แต่เมื่อพิจารณาในภาพรวมของพระพุทธศาสนา ที่แต่เดิมอาจจำเพาะอยู่ในกลุ่มนักวิชาการ หรือผู้ที่สนใจผ่านการศึกษาและงานเขียน แต่ปัจจุบันค่อย ๆ เพิ่มจำนวนขึ้นจากพลเมืองที่อพยพเข้ามาตั้งถิ่นฐานในสวิต หรือคนพื้นเมืองชาวสวิตที่สนใจ ศึกษา สัมผัสคลุกคลี เห็นแนวทางพระพุทธศาสนา จึงนับถือ หรืออาจไม่ได้นับถือเลยทีเดียวแต่ก็ยอมรับและมีท่าทีเป็นมิตร เป็นต้น

ผลการค้นหารูปภาพสำหรับ Nyanatiloka Mahatheraผลการค้นหารูปภาพสำหรับ Nyanatiloka Mahathera

ภาพที่ 3 การสื่อสารพระพุทธศาสนา ในรูปแบบหนังสือ ของท่าน  Nyantiloka Mahathera พระภิกษุชาวเยอรมันที่บวชในศรีลังกา และมีผลเป็นความสนใจเรียนรู้พระพุทธศาสนาในยุโรปและสวิตต่อมา  (ภาพออนไลน์ 29 เมษายน 2560)

จากการสำรวจสำมะโนประชากรของประเทศสวิตเซอร์แลนด์ในปี พ.ศ. 2543/2000 พบว่าสถิติชาวสวิต 21,305 คน (0.29% ของประชากรทั้งหมด) เป็นชาวพุทธ ประมาณหนึ่งในสามเป็นผู้มีพื้นถิ่นกำเนิดจากประเทศไทย สอดคล้องกับงานเขียนของ Baumann, Martin (2000 : 154-159) ในเรื่อง “Buddhism in Switzerland หรือในงานของ Weigelt, Frank-André (2009 : 774-778) ที่เขียนเป็นภาษาเยอรมัน เรื่อง “Dokumentation: Buddhismus in der Schweiz. Eine Kurzdarstellung” ที่ให้ข้อมูลประวัติเกี่ยวกับชุมชนชาวพุทธในประเทศสวิตที่ปรากฏในงานเขียนจะเป็นกลุ่มชาวพุทธธิเบต และกลุ่มชาวพุทธจากประเทศเถรวาทอย่างไทย ศรีลังกา กัมพูชา  ที่เข้าไปตั้งถิ่นฐานและสามารถสร้างอัตลักษณ์ทางกายภาพผ่านรูปแบบสถาปัตยกรรมสิ่งสร้างในพระพุทธศาสนาทั้งในแบบวัชรญาณธิเบตและพุทธเถรวาทจากประเทศไทย ศรีลังกา กัมพูชา และกิจกรรมประเพณีวิถีทางศาสนาในแบบไทย ศรีลังกา กัมพูชาและธิเบต เป็นต้น

ดังนั้นจากภาพรวมของวัดในพระพุทธศาสนาค่อย ๆ พัฒนาจนเป็นส่วนหนึ่งของสังคมสวิตเซอแลนด์ที่ ไม่ใช่สิ่งแปลกปลอม หรือแปลกแยกแต่อย่างใด จากประสบการณ์ผู้เขียนได้สอบถามทัศนะของชาวสวิต ที่ชูริก ที่มาวัดไทย ก็จะมีท่าที่และความรู้สึกถึงมิตรไมตรีของวัดไทยชุมชนคนไทย ชุมชนชาวพุทธได้เป็นอย่างดี

 

วัดไทยพระพุทธศาสนาแบบไทย

พัฒนาการของชุมชนชาวพุทธแบบไทยในประเทศสวิต เนื่องจากการย้ายถิ่นมาอยู่อาศัยของชุมชนชาวพุทธมากขึ้น  จึงได้มีการจัดตั้งวัดไทย ดังกรณีวัดศรีนครินทรวราราม เพื่อเป็นที่ทำกิจกรรมและที่พึ่งของชุมชนชาวไทยพุทธในประเทศสวิตเซอแลนด์ ซึ่งผู้เขียนได้มีโอกาสเดินทางไปที่วัดพบ สังเกตและสัมภาษณ์เจ้าอาวาส พระธรรมทูต และผู้ร่วมก่อตั้งวัดในยุคแรก ๆ  ทำให้ได้ทราบข้อมูล และร่วมกิจกรรมกับชุมชนชาวไทยในชูริก จึงได้ข้อมูลนำมาบันทึกเป็นประวัติการเดินทางในคราวนี้ และที่น่าสนใจก็คือ ในการเดินทางนี้ทำให้ได้พบและเห็นว่าพุทธศาสนามีความสำคัญและเป็นที่ยึดเหนี่ยวจิตใจ อันเป็นที่ “ระลึก-สรณะ” สำหรับชาวพุทธ แม้ไม่ได้อยู่ในดินแดนประเทศไทย

ถ้าดูข้อมูลจะพบว่าวัดพระพุทธศาสนาเถรวาทแบบไทย จะมีวัดศรีนครินทราวราราม ตั้งอยู่ที่เมืองซูริก อันเป็นสาขาของวัดเบญจมบพิตร หรือวัดพุทธาราม ที่เมืองโลซาน อันเป็นสาขาของวัดประยุรวงศาวาส เป็นต้น โดยวัดเหล่านี้เป็นวัดหลัก ๆ ในประเทศสวิตเซอแลนด์ พร้อมเป็นที่พึ่งอาศัยของชุมชนชาวพุทธ และชาวไทยในสวิตและประเทศใกล้เคียงด้วยเหตุผลว่า วัดไปพร้อมกับชุมชนคนไทย เหมือนวัดธิเบต ไปพร้อมกับชุมชนชาวธิเบต จากข้อมูลของพระเทพกิตติโมลี (พระราชกิตติโมลี,2540 : 15-45)   ให้ข้อมูลว่า ชาวไทยที่มาใช้ชีวิตในยุโรป รวมทั้งสวิต และพัฒนาชุมชนจนกระทั่งสร้างวัด พัฒนาวัดจนเป็นหลักชัยสำหรับชาวพุทธได้  จะเป็นแบบ (1) เข้ามาศึกษา (2) ประกอบอาชีพและทำธุรกิจ (3) การเป็นอาสามัครในการทำงานในต่างประเทศ (4) การติดตามครอบครัวสามีชาวต่างชาติ (5) การท่องเที่ยวและพัฒนาไปตั้งถิ่นฐาน เป็นต้น…” จากข้อมูลที่มาทั้งหมด จึงเป็นปัจจัยให้เกิดชุมชนชาวพุทธทั้งในยุโรป และในประเทศสวิตเซอแลนด์  (พระเทพกิตติโมลี,สัมภาษณ์ 29 เมษายน 2562)

จากภาพรวมของพระพุทธศาสนากับการดำรงอยู่ในประเทศสวิต หากนำคำนิยามของพระธรรมปิฎก (2543) ในเรื่อง “พระธรรมทูตไทย เบิกทางสู่อารยธรรมใหม่” มาอ้างถึงซึ่งท่านได้สะท้อนลักษณะอันเป็นท่าทีของพระพุทธศาสนากับการคงอยู่ในแต่ละสังคมที่ว่า

 “……ศักยภาพที่แท้จริงของมนุษย์ ไม่ใช่การเอาชนะธรรมชาติ แต่เหนือกว่านั้นคือ ความสามารถที่จะทำให้ชีวิต สังคม และธรรมชาติ ดำเนินไปด้วยดีอย่างเกื้อกูลแก่กันและกันมากยิ่งขึ้นๆ เบียดเบียนกันน้อยลงๆ จนกระทั่งเป็นโลกที่เป็นสุขไร้การเบียดเบียน อารยธรรมที่เป็นเช่นนี้และคืออารยธรรมที่แท้ ซึ่งเกิดจากการแก้ไขปรับปรุงอารยธรรมปัจจุบัน ที่อยู่ในแนวทางของตะวันตก ไปเป็นอารยธรรมใหม่…” (ปอ.ปยุตฺโต)

          ดังนั้นพัฒนาการของพระพุทธศาสนาจึงเป็นแบบท่าที่และการจัดวางตัวเองต่อสาธารณะให้เกิดขึ้นและกลายเป็นลักษณะร่วมของสังคมที่เกิดขึ้นจนกระทั่งปัจจุบัน รวมถึงการจัดวางตัวเองของพระพุทธศาสนาต่อสังคมชาวพุทธและสังคมอื่นได้อย่างลงตัว เมื่อสอบถามหรือจากประสบการณ์ของการเดินทางจึงเห็นว่าชุมชนชาวพุทธประสานเข้ากันด้วยดีกับชุมชนชาวสวิตที่ไม่ใช่ชาวพุทธ รวมทั้งยังมีการอนุญาตให้จัดซื้อที่ดินเพิ่มอนุญาตให้สร้างหรือลดราคาที่ดินเพื่อประโยชน์ต่อการใช้สำหรับชาวพุทธองค์รวมด้วย

 

ในภาพอาจจะมี 3 คน, ผู้คนกำลังนั่งในภาพอาจจะมี 13 คน, ผู้คนกำลังนั่ง และเด็กภาพที่ 4 (ซ้าย) ผู้เขียนพบและกราบมนัสการพระเทพกิตติโมลี,ดร. เจ้าอาวาสวัดศรีนครินทรวราราม ซูริก ประเทศสวิตเซอแลนด์ ที่ให้ข้อมูลเกี่ยวกับประวัติและพัฒนาการของวัดไทย (กลาง-ขวา) ร่วมกิจกรรมชุมชนชาวพุทธไทยในชูริก (ภาพผู้เขียน 29 เมษายน 2562)

          จากการสอบถามพระเดชพระคุณพระเทพกิตติโมลี ได้เมตตาเล่าเกี่ยวกับกิจกรรมต่างๆ ที่ทางวัดได้ดำเนินการอย่างต่อเนื่อง ที่น่าสนใจคือ การสอนกรรมฐานให้กับฝรั่งชาวสวิต ที่แสดงให้เห็นว่าขณะนี้มีชาวต่างชาติสนใจเข้าร่วมปฏิบัติกรรมฐาน ศึกษาพระพุทธศาสนากันมากขึ้น พบได้จากสถิติที่เพิ่มขึ้น ของชาวสวิตและชาวต่างชาติที่มาร่วมศึกษาปฏิบัติธรรมในหลักสูตรที่ทางวัดจัดขึ้นในแต่ละปี

         ดังนั้นความเป็นพระพุทธศาสนา และวัดไทยเมื่อสำรวจในองค์รวมจะพบลักษณะประการหนึ่งว่า คือพระพุทธศาสนาจะผสมด้วยความเป็นกลุ่มชาติพันธ์ดังปรากฏเป็นวัดไทย (Zurich,Losanze) วัดศรีลังกา (Geneva) วัดธิเบต วัดกัมพูชา (Zurich) ชุมชนชาวพุทธเกาหลี หรือชุมชนชาวพุทธที่ได้รับแบบอย่างจากธิเบต ภูฎาน ดังกรณีกลุ่มชาวพุทธ Diamond James  เป็นต้น ซึ่งสะท้อนถึงอัตลักษณ์ของความเป็นชาติพันธุ์โดยมีพื้นถิ๋นเป็นอัตลักษณ์ทางพระพุทธศาสนาในสวิตด้วย

 จุดเริ่มต้นอยู่ที่สวิต บุคคลสำคัญ เหตุการณ์สำคัญของโลก

เมื่อพูดถึงวัดและพระพุทธศาสนาในประเทศไทย ในแบบไทย ๆ แล้ว คนไทยอาจมีความคุ้นชินกับเรื่องอื่น ๆ อีกอาทิ เราอาจคุ้นชินกับกาชาดสากล องค์กรสหประชาชาติ โอลิมปิคสากล หรือสนธิสัญญาเจนีวา หรือนักวิทยาศาสตร์ระดับโลกอย่าง อัลเบิร์ต ไอน์สไตน์ (Albert Einstein) ที่มีข้อมูลว่าเป็นชาวสวิตและเรียนจบปริญญาเอกที่มหาวิทยาลัยชูริก ซึ่งผู้เขียนก็ได้มีโอกาสไปเยือนมหาวิทยาลัยแห่งนี้ในการเดินทางนี้ด้วย   ไอน์สไตน์เป็นเจ้าของทฤษฎีสัมพันธภาพ (E= mc2) ที่เป็นประเด็นถกเถียงกันในกลุ่มคนไทยล่าสุด ดังกรณีที่ ศ.ดร.สมภาร พรมทา ตั้งประเด็นแย้ง พระมหาวุฒิชัย วชิรเมธี  “…ศ.ดร.สมภาร ฝาก ‘ท่าน ว.’ ศึกษาให้มากก่อนพูด นักวิชาการขุดข้อมูลปม ‘ไอน์สไตน์’ ชูพุทธศาสนา ยันไม่จริง!…” (มติชน 15 ธันวาคม 2561) กับประโยคที่เชื่อว่าเป็นของไอน์สไตน์ที่ว่า “…บรรดาศาสนาในโลกนี้ พุทธศาสนาน่าจะเป็นศาสนาที่ยอดเยี่ยมที่สุด และเหมาะสมแก่คนทุกยุคทุกสมัย เพราะทนต่อการพิสูจน์ได้ทุกเวลา..” ที่ถูกแปลมาจากประโยค ที่ว่า “…Buddhism contains a much stronger element of [the cosmic religious feeling, by which] the religious geniuses of all ages have been distinguished…” ที่ยังถกเถียงกันอยู่กับทัศนะของไอน์สไตน์ ต่อความเป็นพระพุทธศาสนา ซึ่งก็มีการโต้แย้งว่า ทัศนะดังกล่าวเป็นการสะท้อนถึง “…‘พุทธศาสนา’ แบบที่ อาเธอร์ โชเปนเฮาเออร์ (Arthur Schopenhauer, พ.ศ. 2331-2403/1788-1860) นักปรัชญา และนักจริยศาสตร์ชาวเยอรมนี ซึ่งสนใจในปรัชญาของโลกตะวันออก พูดถึงเอาไว้…” ยกมาไม่มีข้อสรุปในบทความนี้  เพียงแต่ยกมาเพื่อเชื่อมถึงไอน์สไตน์กับพระพุทธศาสนาเมื่อเดินทางมาสวิตเท่านั้นส่วนใครอย่างไรไปศึกษาต่อกันเอาเอง  หรือชาวสวิตอีกท่านหรือ คาร์ล กุสทัฟ ยุง (Carl Gustav Jung; 1875–1961/2418-2504) เกิดที่เมืองซูริก เป็นนักจิตบำบัดและจิตแพทย์ ผู้ก่อตั้งสำนักจิตวิทยาวิเคราะห์ ที่เสนอและพัฒนามโนทัศน์บุคลิกภาพแบบแสดงตัวและเก็บตัว แม่แบบ (Archetype) และจิตไร้สำนึกร่วม (Collective Unconscious) ผลงานของเขามีอิทธิพลต่อจิตเวชศาสตร์และศาสนา วรรณกรรม และสาขาที่เกี่ยวข้อง ที่นักการพระพุทธศาสนาและหลักฐานบันทึกว่าได้ศึกษาพระพุทธศาสนาและปรากฏเป็นแนวคิดคำสอน ที่เกี่ยวข้องกับพระพุทธศาสนาไว้ อาทิ “…ในฐานะเป็นนักศึกษา ศาสนาเปรียบเทียบ ข้าพเจ้าเชื่อว่าพระพุทธศาสนาเป็นศาสนาที่สมบูรณ์มากที่สุดที่โลกเคยพบเห็นมา ปรัชญาของพระพุทธเจ้า ทฤษฎีวิวัฒนาการและกฎแห่งกรรม (ทำดีได้ดี ทำชั่วได้ชั่ว) ยิ่งใหญ่เหนือลัทธิอื่นอย่างห่างไกล…” หรือเพียเจต์ (Jean Piaget, 1896-1980/2439-2523) นักจิตวิทยาชาวสวิตที่เป็นที่รู้จักในฐานะผู้เชี่ยวชาญในทฤษฎีพัฒนาการทางด้านสติปัญญา ที่นักการศึกษาคุ้นชินและนำแนวคิดมาอ้างถึงในความเป็นต้นแบบต้นเค้าของทฤษฎี ดังนั้นเมื่อผู้เขียนเดินทางไปยังสวิตเซอร์แลนด์ จึงถือโอกาสนำบันทึกแบ่งปันบุคคลสำคัญหรือเรื่องสำคัญ ที่ถือว่าเป็นจุดเริ่มต้นอยู่ที่ประเทศแห่งนี้ เมื่อได้เดินทางไปยังสวิต เมืองเจนีวา  จะมีองค์กรสากลระดับนานาชาติ ที่เป็นศูนย์กลางในการสร้างความร่วมมือระหว่างประเทศ กาชาดสากล (International Committee of the Red Cross) องค์การโลอิมปิกสากล (International Olympic) เมืองโลซาน หรือบุคลสำคัญของโลกในสายวิทยาศาสตร์ อย่างไอน์สไตน์  นักจิตวิทยา นักการศึกษาอย่าง คาร์ล กุสทัฟ ยุง (Carl Gustav Jung) เพียเจต์ (Jean Piaget) ที่ถูกบันทึกว่าเป็นชาวสวิตเซอแลนด์  เป็นต้น ดังนั้นสิ่งที่เป็นจุดเริ่มต้นเหล่านี้ในสวิต ได้สะท้อนความเป็นมาและพัฒนาการของความเป็นมาในอดีตได้เป็นอย่างดี

ผลการค้นหารูปภาพสำหรับ ไอน์สไตน์

ผลการค้นหารูปภาพสำหรับ อังรี ดูนัง

ผลการค้นหารูปภาพสำหรับ คาร์ล จุง

รูปภาพที่เกี่ยวข้อง

ภาพที่ 5 บุคคลสำคัญของโลก ที่เป็นชาวสวิต ทั้งไอน์สไตน์ ผู้คิดค้นทฤษฎีสัมพันธภาพ คาร์ล จุง

นักจิตวิทยาก้องโลก และ อังรี ดูนัง ผู้ก่อตั้งกาชาดสากล และเพียเจต์ นักจิตวิทยาการศึกษา เป็นต้น

(ภาพออนไลน์ : 28 เมษายน 2562)

ผู้เขียนมีประสบการณ์เดินทางด้วยรถไฟในช่วงบ่ายของวันที่ 28 เมษายน 2562 จากซูริกถึงเจนีวาจึงให้ระลึกถึง ฌอง อังรี ดูนังต์ (Jean Henri Dunant) ชาวเจนีวา ที่เป็นนักธุรกิจ และนักช่วยเหลือเพื่อนมนุษย์ ซึ่งมีอายุช่วงสมัย (เกิด 8 พฤษภาคม ค.ศ.1828-1910/2371-2453) พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว (พ.ศ.2367-2394/1824-1851)  ความทรงจำของคนไทยเราเกี่ยวกับเขาก็คือ ผู้ให้กำเนิดสภากาชาดสากล (International Committee of the Red Cross) เพื่อรักษาผู้บาดเจ็บจากภัยสงคราม  และได้รับรางวัลโนเบลสาขาสันติภาพ ในปี ค.ศ.1901/2444 ร่วมกับ เฟรเดอริก พาสซี (Frédéric Passy)  และสำนักงานใหญ่กาชาดสากล ก็ตั้งอยู่ที่เจนีวานี่ด้วยเช่นกัน  ส่วนในประเทศไทยก็มีการจัดตั้งสภากาชาดไทย และนำชื่อของ Henri Dunant มาตั้งเป็นชื่อถนนอังรี ดูนังท์ ในโอกาสครบรอบ 100 ปีกาชาดสากล เมื่อ 8 พฤษภาคม พ.ศ.2508/1965  ซึ่งตรงกับวันกาชาดสากล โดยถนนอยู่ในท้องที่แขวงปทุมวัน  เริ่มต้นจากถนนพระรามที่ 1 (สามแยกเฉลิมเผ่า) ถึงถนนพระรามที่ 4 (สี่แยกอังรีดูนังต์) เดิมถนนสายนี้เรียกว่า “ถนนสนามม้า” เนื่องจากผ่านสนามม้าปทุมวัน (ปัจจุบันคือราชกรีฑาสโมสร)  ผ่านสถานที่สำคัญ อาทิ สถานเสาวภา สภากาชาดไทย โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โรงเรียนเตรียมอุดมศึกษา โรงเรียนสาธิตมหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ ปทุมวัน สยามสแควร์ โรงพยาบาลตำรวจ และ สำนักงานตำรวจแห่งชาติ เป็นต้น ดังนั้นถนนอังรี ดูนังท์ จึงอยู่ในความคุ้นชิน รับรู้ของคนไทยส่วนใหญ่ร่วมกับคำว่าสภากาชาดไทยด้วยเช่นกัน

อีกเรื่องหนึ่งเมื่อมาถึงเจนีวา คงไม่พูดถึงเรื่อง “อนุสัญญาเจนีวา (Geneva Conventions)” ไม่ได้ แล้วสัญธิสัญญาเจนิวา ว่าด้วยเรื่องอะไร ก็ต้องหาข้อมูลมาตอบว่า เป็นสนธิสัญญา 4 ฉบับ และพิธีสาร 3 ฉบับที่วางมาตรฐานในการปฏิบัติต่อผู้เป็นเหยื่อของสงครามอย่างมีมนุษยธรรม  ภายใต้แนวคิด มนุษยธรรม ความเสมอภาค และ ความไม่ลำเอียงอันเป็นจริยธรรมสากลในการทำสงคราม แปลว่าแม้จะทะเลาะทำสงครามต่อกัน ก็ต้องมีมารยาทสากลต่อกัน อาทิ

“..การรักษาพยาบาล แก่เพื่อนและศัตรูโดยเท่าเทียมกัน เคารพในศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ เกียรติของมนุษย์ สิทธิในครอบครัว ในการนับถือศาสนาและเกียรติของสตรี…ให้อำนาจเจ้าหน้าที่ของคณะกรรมการกาชาดระหว่างประเทศ ไปเยี่ยมนักโทษสงคราม และประชาชนที่อยู่ในค่ายกักกัน โดยพูดกับผู้ถูกกักขังอย่างไม่มีพยานร่วมรับรู้  ห้ามการกระทำที่ไม่มีมนุษยธรรม การทรมาน การประหารชีวิต การเนรเทศ จับตัวประกัน สอบสวนหมู่การกระทำที่รุนแรงและทำลายทรัพย์สินส่วนตัวอย่างไม่ปรานี…ฯ…” เป็นต้น

เริ่มแรก ได้รับการรับรองเมื่อวันที่ 12 สิงหาคม พ.ศ. 2492/1949 และเริ่มมีผลบังคับใช้เมื่อวันที่ 21 ตุลาคม พ.ศ.2493/1948 มีเป้าหมายให้การสงเคราะห์ทหาร และพลเรือนที่ได้รับผลกระทบจากสงคราม โดยประสานงานใกล้ชิดกับคณะกรรมการกาชาดสากล (ไอซีอาร์ซี) ในส่วนประเทศไทย ก็ร่วมลงนามเป็นภาคีในสนธิสัญญาเจนีวาด้วย  พร้อมทั้งได้ออกกฏหมายมา เพื่อให้สอดคล้องและเป็นไปตามอนุสัญญาเจนีวาด้วย  เกี่ยวกับการปฏิบัติต่อเชลยศึก พ.ศ.2498/1955 โดยมีเนื้อหาช่วยคุ้มครองสิทธิมนุษยชนแก่เชลยศึก อันจะเห็นได้ในบทบัญญัติ ในส่วนความผิดที่กระทำต่อ เชลยศึก

ทั้งหมดบันทึกไว้เป็นความทรงจำของการเดินทางประหนึ่งเมื่อมาถึงถิ่นแล้วก็สะท้อนคิดบันทึกไว้เป็นส่วนหนึ่งของความทรงจำว่าจุดเริ่มต้น หรือความสำคัญอยู่ในประเทศสวิตแห่งนี้ด้วยประหนึ่งบันทึกผ่านการเดินทางกับเรื่องที่เห็นด้วยตาสู่อักษรวรรณศิลป์ด้วยการเล่าเรื่องดังปรากฏ

 

สวิต ต้นแบบของการการจัดการท่องเที่ยว

          เมื่อมาถึงสวิตเซอแลนด์ดินแดนที่ได้ชื่อว่า มีระบบการจัดการท่องเที่ยวที่ดีที่สุดอีกประเทศหนึ่งของโลก และรายได้หลักมาจากอุตสาหกรรมการท่องเที่ยว ดังมีข้อมูลว่าใน ค.ศ.2018 ไตรมาสที่ 3 มีรายได้ 5003.60 ล้านสวิตฟรังค์ (CHF)  และไตรมาสที่  4  จำนวน 3610.62 ล้านสวิตฟรังค์ (CHF) นอกจากนี้มีข้อมูลว่ารายรับจากการท่องเที่ยวในสวิตเซอร์แลนด์เฉลี่ย 2916.83 ล้านสวิตฟรังค์ (CHF)  นับตั้งแต่ปี ค.ศ.1983 จนถึงปี ค.ศ.2018 ไตรมาสที่สามของปี 2018/2561 และมีผลได้เป็นสถิติต่ำที่สุดที่ 999.10 ล้านสวิตฟรังค์ ในไตรมาสที่สี่ของปี 1983/2526 ส่วนนักท่องเที่ยวเมื่อตรวจสอบข้อมูลพบว่า ในเดือนมกราคมที่ผ่านมา มีนักท่องเที่ยว 580,705 คน และเดือนกุมภาพันธ์ 2019/2562 มีนักท่องเที่ยว 634,406 คน รวมทั้งมีสถิติว่านักท่องเที่ยวมาเที่ยวสวิตมากสุดในช่วงเดือนสิงหาคม 2018/2561 ราว 1,295,815 คน และน้อยสุดในช่วงเดือนพฤศจิกายน ราว 305,000 คน

ในงานของ สุรเกียรติ ธาดาวัฒนาวิทย์ (2017 : 332-349) ในผลการศึกษาเรื่อง “การศึกษาเปรียบเทียบการจัดการศึกษาของสถาบันอุดมศึกษาด้านอุตสาหกรรมบริการ :  กรณีศึกษาประเทศสวิตเซอร์แลนด์และประเทศไทย” ที่ให้ข้อมูลเกี่ยวกับสวิตไว้ว่า

“…ประเทศสวิตเซอร์แลนด์ แรงงานส่วนใหญ่จะอยู่ในภาคของอุตสาหกรรมบริการ มีจำนวนแรงงานในภาคอุตสาหกรรมบริการมากที่สุดคือร้อยละ 68.9 เนื่องจากขาดแคลนทรัพยากรธรรมชาติ…ด้านวัตถุประสงค์การก่อตั้งโรงเรียนการโรงแรมโลซาน มีวัตถุประสงค์การก่อตั้งเพื่อปูพื้นฐานบุคลากรในสายอุตสาหกรรมบริการ ฝึกฝนเพื่อเตรียม ความพร้อมสู่สายอาชีพการบริการจัดการทางด้านอุตสาหกรรมบริการระดับสากล…”

เมื่อจำเพาะลงไปที่ว่า “อุตสาหกรรมบริการ” ของสวิตคืออะไร ก็มีข้อมูลลงรายละเอียดต่อไปอีกว่า “สาขาที่พักอาศัย (Accommodation for Tourist) การบริการอาหารและเครื่องดื่ม (Food and Beverage Servicing Industry)…” ดังนั้นอุตสาหกรรมการบริหารการจัดการท่องเที่ยว การโรงแรม อาหาร ที่พัก และระบบที่เนื่องด้วยการท่องเที่ยวนับเป็นความสำคัญและความจำเป็น  ดังปรากฏเป็นหลักสูตรการเรียนการสอน ที่โรงเรียนการโรงแรมโลซานให้ข้อมูลว่าศิษย์เก่าจากทั่วโลก มีจำนวนสูงกว่า 25,000 คน จาก 138 สัญชาติ ส่วนใหญ่จะเป็นคนสวิตเซอร์แลนด์ ฝรั่งเศส เยอรมนี อิตาลี สหราชอาณาจักร เป็นต้น  และใน 137 ประเทศ  ศิษย์เก่าส่วนใหญ่ทำงานในโรงแรมเครือข่ายระดับนานาชาติ  (International Hotel Chains) รองลงมาคือ โรงแรมที่บริหารอิสระ (Independent Hotels,) และด้านการบริการอาหารและเครื่องดื่มซึ่งโรงแรมเครือข่ายระดับนานาชาติ (Food Service and Gastronomy) ที่ศิษย์เก่าโรงเรียนการโรงแรมโลซานเข้าไปบริหาร กระจายอยู่ในหลากหลายทวีปทั้ง ยุโรป แอฟริกา ตะวันออกกลาง เอเชีย และอเมริกา  (สุรเกียรติ ธาดาวัฒนาวิทย์,2017 : 332-349) หรือในงานของ วิภา วังศิริกุล และคณะ (2556 : 162-166) ในเรื่อง “การศึกษาดูงานของมหาวิทยาลัยนราธิวาสราชนครินทร์ณ สมาพันธรัฐสวิต – สหพันธสาธารณรัฐเยอรมนี” ที่ไปศึกษาดูงานและแบ่งปันข้อมูลการเดินทางอันเป็นส่วนหนึ่งของการจัดการท่องเที่ยวในสวิตว่า

“…หลังจากนั้นชมสะพานไม้ชาเปล (Chapel bridge) สะพานไม้เก่าแก่ของเมืองอายุกว่า 800 ปี ทอดตัว ข้ามแม่น้ำารอยส์ ซึ่งมีหลังคามุงกระเบื้องโบราณ และป้อม หอคอยรูปแปดเหลี่ยมยอดแหลม ซึ่งเป็นสัญลักษณ์ของ เมืองลูเซิร์น และมีนาฬิกาชั้นดี มีดพับวิคตอรีน็อกซ์ ช็อกโก แล็ตและของที่ระลึกต่างๆ ของสมาพันธรัฐสวิต…”

 

ผู้เขียนมีกำหนดเดินทางจึงเริ่มจากการจัดจองที่พัก ตั๋วเดินทางระหว่างประเทศ และตั๋ว­เดินทางภายในประเทศที่เรียกว่า Swiss Pass เพื่อเดินทางและท่องเที่ยวภายในประเทศ ในแบบ 3 วัน สนนราคาที่  ฟรังสวิต หรือประมาณ 7 พันบาท  ซึ่งสรุปได้ว่าเป็นการจัดการท่องเที่ยวที่เป็นระบบ คือไปยังเมืองไหนแหล่งใด จะพบการออกแบบการท่องเที่ยว ที่เอื้ออำนวย ความสะดวก ในองค์รวมที่มีการจัดการอย่างเป็นระบบ สอดคล้องกัน ทั้งการออกแบบขนส่ง การจัดแหล่งท่องเที่ยวและสิ่งอำนวยความสะดวกด้านการท่องเที่ยวในองค์รวมด้วยเช่นกัน ทั้งในส่วนภาคปฏิบัติการ ภาคบริการ และสิ่งอำนวยความสะดวกการท่องเที่ยว  โรงแรม การขนส่ง และการออกแบบในสถานที่ท่องเที่ยวนั้น ๆ ที่ก่อให้เกิดมูลค่าทางเศรษฐกิจในองค์รวมดังปรากฏเป็นสถิติผลได้จากการท่องเที่ยวในแผนภาพที่ 6



ภาพที่ 6 แผนภาพสถิติรายรับจากอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวสวิต และสัดส่วนนักท่องเที่ยวในแต่ละปี

ที่มา : https://www.ceicdata.com/en/indicator/switzerland/tourism-revenue สืบค้น

30 เมษายน 2562)

จากแผนภาพที่ 6 จะให้ข้อมูลเกี่ยวกับสถิติรายได้จากอุตสาหกรรมการท่องเที่ยว และจำนวนนักท่องเที่ยวในรอบ 10  ปีของประเทสสวิต โดยมีสัดส่วนเพิ่มขึ้น โดยมีนักเที่ยวสูงสุดจำนวนราว 475,000 คนในช่วง ค.ศ.2011 และมีรายได้จากอุสาหกรรมดังกล่าวกว่า 48499.675 ล้านดอลล่าสหรัฐ (Us,Dollar) นอกจากนี้รายรับจากการท่องเที่ยวของสวิตเซอร์แลนด์อยู่ที่ 45,353.523 ล้านดอลล่าห์สหรัฐ (USD Dollar) ในเดือนธันวาคม 2017/2560 เมื่อเทียบกับเดือนธันวาคม ค.ศ.2016/2559 ราว 44,411.181 ล้านดอลล่าห์สหรัฐ  ข้อมูลรายรับจากการท่องเที่ยวของสวิตเซอร์แลนด์ได้รับการอัพเดททุกปีตั้งแต่เดือนธันวาคม 2011/2544 ถึงธันวาคม 2017/2560 ข้อมูลรายได้สูงถึง 48,450 ล้านดอลล่าห์สหรัฐ  ในสิ้นเดือนธันวาคม ค.ศ.2011/2554 และต่ำเป็นประวัติการณ์ที่ 20,306 ล้านดอลล่าห์สหรัฐ  ในสิ้นเดือนธันวาคม ค.ศ.2001/2544  ทั้งหมดเป็นข้อมูล ที่ชี้ให้เห็นจำนวนนักท่องเที่ยวสัมพันธ์กับรายได้ของอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวในภาคส่วนต่าง ๆ ของประเทศ ซึ่งนำเสนอและยกมาเพื่อสะท้อนให้เห็นว่ารายได้จากการท่องเที่ยวเมื่อเทียบกับประเทศไทยก็เป็นประเทศหนึ่งที่มีทรัพยาการทางการท่องเที่ยวจำนวนมาก ทำอย่างไรถึงจะให้เป็นการจัดการในองค์รวมที่ก่อให้เกิดประโยชน์เป็นทั้งมูลค่าทางเศรษฐกิจ ต่อประเทศได้อย่างแท้จริง



source: tradingeconomics.com
ภาพที่ 7 แผนภาพสถิติรายรับจากอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวสวิต และสัดส่วนนักท่องเที่ยวในแต่ละปี

ที่มา: https://tradingeconomics.com/switzerland/tourism-revenues

30 เมษายน 2562)

จากแผนภาพที่ 7 จะชี้ให้เห็นว่า รายได้ในไตรมาสที่ 1 และไตรมาสที่ 3 จากการท่องเที่ยวของสวิตมีสัดส่วนสูงในทุกรอบปีนับตั้งแต่ ค.ศ.2016-ปัจจุบัน ซึ่งเป็นเครื่องยืนยันได้ข้อ 1 ว่าอุตสาหกรรมท่องเที่ยวเป็นสิ่งที่สร้างรายได้ให้กับสวิตเป็นหลักอีกอย่างหนึ่ง ดังนั้นเมื่อจะนำไปสู่การเรียนรู้ ถอดบทเรียนถึงแนวทาง ชุดความรู้ กลไก วิธีการปฏิบัติ จากการจัดการท่องเที่ยว ที่ประเทศไทยก็เป็นประเทศที่พึ่งรายได้จากอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวด้วย ดังนั้นเมื่อมีการออกแบบการจัดการจัดท่องเที่ยวในทุกภาคส่วนอย่างเป็นระบบก็จะเป็นประโยชน์นำรายได้เข้าประเทศได้อย่างแท้จริงผ่านกระบวนการและการจัดการ โดยศึกษาเทียบเคียงกับประเทศที่ประสบความสำเร็จในอุตสาหกรรมดังกล่าวได้

 

การเรียนรู้ ถอดบทเรียนสู่การปฏิรูป ปฏิบัติ เปลี่ยนแปลง

          ในบทส่งท้าย คงเลือกที่จะสะท้อนคิดจากการเดินทางประหนึ่งถอดบทเรียนว่าประเทศสวิตมีการจัดการท่องเที่ยวที่เป็นเชิงประจักษ์ จึงอาจเป็นได้ทั้งการจัดการในองค์รวมอาทิ (1) ประเทศไทยมีทรัพยากรธรรมชาติที่มีอยู่จำนวนมาก ควรให้มีการส่งเสริมการเข้าไปจัดการการท่องเที่ยวอย่างเหมาะสมให้มีทั้งการอนุรักษ์ ในธรรมชาติแวดล้อมนั้น ทั้งป่าเขา ต้นไม้ น้ำตก เมื่อมีการอนุรักษ์อย่างเหมาะสมก็มีการเข้าไปใช้อย่างเข้าใจในธรรมชาติ และใช้ธรรมชาตินั้นเป็นเครื่องประคอง และจัดการให้เกิดประโยชน์อย่างสูงสุดต่อพระพุทธศาสนาในองค์รวมด้วยเช่นกัน (2) การจัดการและการออกแบบการท่องเที่ยวที่ประสานกัน อาทิ เป็นระบบองค์รวม ทั้งที่การเดินทางระหว่างประเทศ ที่พัก การเดินทางภายในประเทศ เป็นต้น หรือออกแบบให้เป็นแพ็กเก็จที่เหมาะต่อการท่องเที่ยวและการเดินทาง ทั้งระยะสั้น ระยะยาว ที่จะเป็นประโยชน์สำหรับผู้เดินทางท่องเที่ยว และผลได้สำหรับประเทศ ซึ่งสามารถถอดออกมาเป็นการเรียนรู้จากการเดินทางในครั้งนี้เป็นบันทึกถอดบทเรียนได้ คือ

(1).บุคคลสำคัญ สู่การพัฒนาคนให้มีความสำคัญ ดังกรณีเดินทางมายังประเทศสวิตจะมีบุคคลสำคัญระดับโลก ซึ่งสามารถถอดวิธีการแนวทางในการพัฒนาคนทั้งในด้านการเรียนรู้ สถาบันการศึกษา ระบบรัฐที่จัดการศึกษาให้ได้มีประโยชน์อย่างสูงสุดด้วยเช่นกัน มีความสำคัญเขามีแนวทางการศึกษาและพัฒนาการศึกษาให้เป้นต้นแบบได้อย่างไร เป็นสิ่งพึงนำมาสังเคราะห์ออกมาเป็นความรู้ (ก) ศึกษาวิธีการความเป็นต้นแบบ (ข) ศึกษาพัฒนางานของบุคคลสำคัญว่ามีแนวทางหรือกระบวนการในการพัฒนาตัวเองอย่างไร (ค) การพิจารณากระบวนการจัดการศึกษาในองค์รวม (ง) ศึกษางานของบุคคลสำคัญว่าสร้างงานและสร้างประโยชน์ต่อส่วนรวมอย่างไร แล้วนำมารณรงค์สร้างการเรียนรู้ เลียนแบบเพื่อให้เกิดรรู้ตระหนักและทำได้แบบนักการศึกษาหรือบุคคลสำคัญที่ยกและกล่าวมา (จ) กระบวนการพัฒนาการบุคคลสาธารณะ ดังกรณีกระบวนการบ่มเพาะขัดเกลาของผู้นำ บุคคลสำคัญ หรือกรณีพระเจ้าแผ่นดินไทยที่พัฒนาพระองค์ในประเทศสวิต จนกระทั่งเป็นต้นแบบต้นอย่าง จนกระทั่งเป็นบุคคลสาธารณะที่ถูกจดจำและทรงคุณค่า สิ่งเหล่านี้เป็นสิ่งที่สามารถสะท้อนคิดและจะนำมาเป็นแบบอย่างเนื่องด้วยการเรียนรู้นี้ได้ด้วยเช่นกัน  คำถามก็คือว่า เขามีแนวทางอย่างไร ดังปรากฏในงานวิจัย สมชาย เสริมแก้ว (2549) คุณลักษณะและกระบวนการปลูกฝังคุณธรรมจริยธรรมของประเทศสวิสเซอร์แลนด์ เป็นต้น

          (2). การจัดการท่องเที่ยว หรือการจัดการมีส่วนสำคัญต่อการพัฒนาประเทศ ดังนั้นในยุคสมัยของการจัดการความรู้ การจัดการทรัพยากรมนุษย์เฉพาะด้าน หรือการจัดการท่องเที่ยวจึงเป็นความจำเป็นและสำคัญ ดังปรากฏข้อมูลจาก ผู้ช่วยศาสตราจารย์  ดร.ณัฐ อมรภิญโญ  (2019 : 103-110) ที่นำหนังสือเรื่อง “Transforming Tourism: Tourism in the 2030 Agenda”  มานำเสนอในรูปแบบ Books Reviews ได้ให้ข้อมูลไว้ว่าองค์กร The Arbeitskreis Tourismus & Entwicklung (AKTE – Working Group on Tourism and Development) จัดตั้งเมื่อปี ค.ศ.1977 ประเทศสวิต เป็นหน่วยงาน ส่งเสริมผู้ด้อยโอกาสในแหล่งท่องเที่ยว โดยการเพิ่มการรับรู้ของประชาชนและสนับสนุน การค้าที่เป็นธรรม ผ่านอุตสาหกรรมการท่องเที่ยว ดังนั้นสวิตจึงมีภาคอุตสาหกรรมการบริหารกว่า 65 เปอร์เซ็น มีการจัดหลักสูตรการเรียนการสอนที่เกี่ยวกับภาคอุตสาหกรรมการบริการ อาทิ การโรงแรม ที่พัก อาหาร และระบบขนส่งเพื่อการท่องเที่ยว ดังปรากฏเป็นหลักฐานว่าสวิต มีรายได้หลัก ๆ จากอุตสาหกรรมการท่องเที่ยว ซึ่งไทยสามารถศึกษาดูงาน ส่งคนไปศึกษาและนำมาเป็นแบบอย่างสู่การจัดการท่องที่ยวให้เป็นประโยชน์กับประเทศไทยที่มีอุตสาหกรรมการท่องที่ยวเป็นหลักได้ด้วยเช่นกัน ซึ่งสามารถเทียบเคียงผ่านงานของ Katarzyna Klimek. (2014) State Tourism Policies in Switzerland and Good Practices for Polish Tourism หรือในงานของ Klaus Weiermair. Thomas Bieger (20..) Tourism Education in Austria and Switzerland: Past Problems and Future Challenges เป็นต้น

(3). พระพุทธศาสนาการสื่อสารที่สันติ การที่อังรี ดูนังค์ ที่ดำเนินกิจกรรมเพื่อส่วนรวมผ่านกาชาดสากลเพื่อการไม่ใช้ความรุนแรงในสงครามต่อกัน  ได้รางวัลโนเบลสาขาสันติภาพ หรือนักจิตวิทยาอย่างคาร์ล กุสตัฟ จุง (Carl Gustav Jung,ค.ศ.1875-1961) นักจิตวิทยาชื่อดังชาวชูริก ที่ศึกษาในหลายศาสตร์ รวมทั้งพระพุทธศาสนาด้วย ดังปรากฏงาน อาทิ Modern Man in Search of a Soul ,Psychological Types,Contribution to Analytic Psychology และ The Discovered Self  พร้อมนำเสนอแนวคิดที่เกี่ยวเนื่องกับพระพุทธศาสนาจำนวนมาก นัยหนึ่งก็คือการสื่อสารพระพุทธศาสนาอีกแบบหนึ่ง ดังนั้นเมื่อมีศาสนาหรือหลักการในศาสนาที่มีแนวคิดเรื่องสันติ หรือการไม่ใช้ความรุนแรง ก็ควรส่งเสริมรณรงค์ กระตุ้นให้ ตระหนัก ด้วยการสื่อสารศาสนาในแบบสันติให้เกิดขึ้นจริง สื่อสารสาธารณะในด้านสันติภาพและการคงอยู่ของสันติภาพ ดังนั้นในความหมายนี้คือรณรงค์ให้ผู้ทำงานด้านศาสนา หรือบุคลากรในศาสนา อันหมายถึงชาวพุทธ ควรทำหน้าที่ “ทูต” สื่อสารแนวทางสันติทางศาสนามา สู่การสร้างเป็นเครื่องมือในการทำให้เกิดสังคมสันติสุขดังที่ คาร์ล จุง หรือ อังรี ดูนัง ได้กระทำ หรือการทำงานของนักบวชชาวพุทธ ที่พยายามสื่อสารแนวคิดสันติภายใน สู่สันติภายนอกดังปรากฏในงานแบบชุนชนชาวพุทธและการคงอยู่ในแต่ละชุมชนชาวพุทธไทย ศรีลังกา เกาหลี กัมพูชา และชุมชนชาวพุทธของชาวตะวันตกเอง อาทิ Diamond Jame เป็นต้น ดังปรากฏในงานการศึกษาของ Baumann, Martin (2000 : 154-159). “Buddhism in Switzerland” และงานของ Weigelt, Frank-André (2009 : 774-778)”Dokumentation: Buddhismus in der Schweiz. Eine Kurzdarstellung”, Schweizerische Kirchenzeitung  กับภาพสะท้อนเหล่านี้คือการสื่อสารผ่านพื้นที่ทางศาสนา

(4). พระพุทธศาสนาแบบไทย สู่ศาสนาสัมพันธ์เชิงพื้นที่ ในความหมายคือ จะมีแนวทางหรือขับเคลื่อนอย่างไร การพัฒนาพระธรรมทุตไทยให้เป็นผู้มีบุคลิภาพทางความรู้ ความสามารถ ในการสื่อสารพระพุทธศาสนา การออกแบบการเรียนรู้กรรมฐาน ที่ถูกทำให้เชื่อว่าเป็นสิ่งดีในพระพุทธศาสนาให้เป็น How to ในการจัดการหรือบริการกิจการพระพุทธศาสนาในประเทศไทย (ต้นทาง) การส่งต่อ (พระธรรมทูต) สู่ความเป็นนานาชาติในแบบที่วัดไทยศรีนครินทร์ดำเนินการอยู่ ให้กว้างขวาง ครอบคลุมและมีการขับเคลื่อนอย่างเป็นระบบ ในนามของผู้นำชุมชนชาวพุทธ ดังปรากฏในงานของพระธรรมทูตปฏิบัติงานในพื้นที่ พระมหากฤตภาส สุขัง (2556) ในเรื่อง “บทบาทเจ้าอาวาสในการบริหารจัดการวัดไทยในสแกนดิเนเวีย-The Abbots Role in the Thai Temple Administration and Management in Scandinavia”  หรือการเข้าไปส่งเสริมการจัดการชุมชนผ่านศาสนาดังบทบาทของกระทรวงการต่างประเทศ ดังปรากฏในงานของธนวิทย์ สิงหเสนี  (2552) ในเรื่อง “บทบาทของกระทรวงการต่างประเทศกับการส่งเสริมการเผยแผ่พระพุทธศาสนาในต่างประเทศ”  หรือสำนักงานพระพุทธศาสนาที่เป็นเจ้าภาพโดยตรง  กับการพัฒนาพระชุมชนชาวพุทธและงานพระธรรมทูตให้มีความพร้อมในการทำงานเชิงพื้นที่ในต่างประเทศมากยิ่งขึ้นด้วย

(5). กระบวนการพัฒนางานพระธรรมทูต ที่อาจมีการอบรมพระธรรมทูตที่ต้นทางคือมหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย ให้สอดคล้องกับงานของพระธรรมทูตเชิงพื้นที่ในแต่ละประเทศ เช่น กฏหมาย  ภาษา ทักษะในงานของแต่ละพื้นที่ทั้งเชิงชุมชน ศาสนาสัมพันธ์ การสื่อสารสาธารณะ และอื่น ๆ ดังปรากฏในงานของพระทินวัฒน์ สุขสง (2558) “แนวทางการเผยแผ่พระพุทธศาสนาในโลกตะวันตก” ที่เสนอว่า “..วิธีการเผยแผ่ ควรผลิตบุคลากรที่มีคุณสมบัติที่เหมาะสม ควรสร้าง สถานที่สำหรับปฏิบัติธรรมที่เหมาะสมกับวิถีชีวิตของชาวตะวันตก ควรผลิตสื่อที่เหมาะสมกับความ ต้องการชาวตะวันตกและควรกำหนดนโยบายในเชิงรุก…” หรือในงานนพวรรณ ฉิมรอยลาภ (2559) ในเรื่อง “การพัฒนาภาษาอังกฤษหลักสูตรเร่งรัดสำหรับพระธรรมทูตสายต่างประเทศโดยการสอนแบบเน้นการปฏิบัติงาน” ที่สะท้อนแนวทางการพัฒนาภาษาสำหรับพระธรรมทูตสายต่างประเทศ หรือในงานของ พระมหาสุริยา วรเมธี (2558,67-72) ในงานเรื่อง “สำรวจการเผยแผ่พระพุทธศาสนาของพระธรรมทูตไทยในสหรัฐอเมริกา” ที่เสนอข้อมูลการศึกษาว่า

“…พระธรรมทูตจึงเป็นองค์ประกอบหนึ่งในการขับเคลื่อนกงล้อแห่งธรรมให้กระจายไปอยู่ทั่วทุกมุมโลก การที่จะปฏิบัติภารกิจอันสำคัญยิ่งนี้ให้เกิดผลสำเร็จได้นั้น ท่านจำเป็นต้องมีความรู้ความเข้าใจถึง แนวคิดในการเผยแผ่พระพุทธศาสนาในพระไตรปิฎก รวมทั้งมีเป้าหมาย และวิธีการในการเผยแผ่พระพุทธศาสนาที่สามารถประยุกต์ใช้ได้ ในแต่ละสภาพแวดล้อมทางกายภาพที่แตกต่างกัน ภาษาในท้องถิ่นนั้นร่วมถึงมีวิธีการในการแก้ไขปัญหาอุปสรรคที่อาจจะเกิดขึ้นในการปฏิบัติหน้าที่ได้อย่างมีประสิทธิภาพ….”

ดังนั้นคณะสงฆ์ระดับผู้บริหารในนามองค์กร ควรใช้วัดไทยในต่างประเทศเป็นฐานในการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ทางพระพุทธศาสนาในประเทศนั้นๆ เช่น ส่งพระธรรมทูตให้เข้ารับการศึกษาในสถาบันการศึกษาที่หน่วยวัดทางพระพุทธศาสนาไทยตั้งอยู่ ในประเทศนั้นๆ  หรือการใช้วัดไทยเป็นเครือข่าย ที่ฝึกงานของพระธรรมทูตเพื่อทักษะที่เป็นเลิศ ทั้งสลับเปลี่ยนเพื่อให้เกิดการเรียนรู้ที่หลากหลายในพื้นที่จริง เป็นต้น เหล่านี้สามารถเกิดขึ้นได้ภายใต้บริบทของการออกแบบระบบเพื่อการบริหารกิจการพระพุทธศาสนาในองค์รวม ดังปรากฏในงานของพระธรรมปิฏก (ป.อ.ปยุตฺโต) ที่เสนอแนวคิดเรื่อง “อุดมการณ์ บทบาท และหน้าที่ของพระธรรมทูตในต่างแดน”  รวมไปถึงการติดตามประเมินผลได้ จากการปฏิบัติในงานอย่างเป็นระบบด้วย ดังปรากฏในงานของ พระปรีชา พงษ์พัฒนะ (2544) เรื่อง “การติดตามและประเมินผลโครงการอบรมพระธรรมทูตสายต่างประเทศศึกษาเฉพาะ : พระธรรมทูตไทยในสหรัฐอเมริกา”  อันสะท้อนคิดถึงแนวทางการพัฒนาพระธรรมทูตสู่การสร้างอารยธรรมพุทธในต่างแดน หรือในงานของพระครูปลัดสุวัฒนวชิรคุณ และคณะ (2552) ศึกษาวิเคราะห์ยุทธศาสตร์หลักในการเผยแผ่พระพุทธศาสนาของพระธรรมทูตไทยในอินเดีย” ที่สะท้อนผลการศึกษาว่าการทำงานบริหารพระธรรมทูตสายต่างประเทศต้องมี “ยุทธศาสตร์” ในการเผแผ่ เพื่อพัฒนาโครงสร้างทั้งระบบของพระธรรมทูต  อันนี้จากประสบการณ์ที่ผู้เขียนไปสัมผัสด้วยตัวเอง ก็เห็นสอดคล้องว่า ควรมีการศึกษาแนวทางในองค์รวมของการพัฒนางานพระธรรมทูต (การพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ในพระพุทธศาสนาด้านการต่างประเทศ)  สู่งานพระพุทธศาสนาในต่างแดนได้อย่างมีประสิทธิภาพ ส่งผลออกมาเป็นประสิทธิผลได้อย่างแท้จริงได้ด้วยเช่นกัน

(6). การจัดการท่องเที่ยวอุตสาหกรรมการบริการแหล่งรายได้ทางเศรษฐกิจของสวิต ควรถอดเป็นการจัดการความรู้ให้กับประเทศไทย  ที่มีทรัพยากรการท่องเที่ยวจำนวนมาก ทั้งการท่องเที่ยวแบบธรรมชาติ อาทิ น้ำตก ป่า เขา ที่เกิดขึ้นเอง เพียงแต่ให้มีการเข้าไปจัดการอย่างเป็นระบบ การบริหารจัดการในองค์รวมให้เกิดประโยชน์สูงสุดด้านการท่องเที่ยวที่ได้ทั้งคุณค่า การเรียนรู้ในแหล่งท่องเที่ยว การรักษา อนุรักษ์ หรือส่งเสริมคุณค่าในวัตถุหรือองค์ประกอบการท่องเที่ยว และได้มูลค่าทางเศรษฐกิจ รายได้ และคุณภาพชีวิตจากการท่องเที่ยวได้ด้วย  ดังปรากฏในงานที่พอจะเทียบเคียงได้ อาทิ สุรเกียรติ ธาดาวัฒนาวิทย์ (2017 : 332-349) ใน “การศึกษาเปรียบเทียบการจัดการศึกษาของสถาบันอุดมศึกษาด้านอุตสาหกรรมบริการ :  กรณีศึกษาประเทศสวิตเซอร์แลนด์และประเทศไทย” หรือในงานวิภา วังศิริกุล และคณะ (2556 : 162-166) ในเรื่อง “การศึกษาดูงานของมหาวิทยาลัยนราธิวาสราชนครินทร์ณ สมาพันธรัฐสวิต – สหพันธสาธารณรัฐเยอรมนี” หรือในงานของ ณัฐ อมรภิญโญ (2019 : 103-110) “Book Reviews : Transforming Tourism: Tourism in the 2030 Agenda”   ดังนั้นการท่องเที่ยวเชิงศาสนาและวัฒนธรรมที่เป็นฐานรากของสังคมไทยอยู่แล้วให้มีมูลค่าทางเศรษฐกิจได้อย่างแท้จริง พึงใช้วิธีการศึกษาเทียบเคียงถอดองค์ความรู้ เพื่อไปสร้างเป็นกลไก รูปแบบ วิธีการของการจัดการท่องเที่ยวในองค์รวม ที่จะพึงได้ทั้งมูลค่า และรักษาคุณค่าเดิมในแบบไทย หรือเป็นคุณค่าทางจิตวิญญาณไว้ได้

ถอดบทเรียนเขียนถึงอย่างละนิดหน่อย สะท้อนคิดว่าข้าพเจ้าผู้เขียนคิดอย่างนี้ เพื่อเป็นประเด็นให้เกิดกรณีศึกษาต่อ นำไปสู่การส่งเสริมการทำงานในองค์รวมด้วย  พระพุทธศาสนา การสื่อสารสารศาสนาเพื่อสันติ การพัฒนาทรัพยากรด้านการท่องเที่ยว คน สถานที่ และการบริหารเชิงระบบ หรือพระธรรมทูตในศาสนาสู่ระดับสากล สู่การจัดการทรัพยาการการท่องเที่ยวให้ได้เป็นทั้งมูลค่าทางเศรษฐกิจแบบสวิต พัฒนาไปเป็นคุณภาพชีวิตดังปรากฏเป็นดรรชนีมวลรวมความสุข และคุณภาพชีวิตผ่านรายได้ เป็นต้น เป็นสิ่งที่คาดหวังและพึงให้เกิดในสังคมไทยผ่านการถอดบทเรียนเล่าเรื่องนี้ด้วยเช่นกัน

ในภาพอาจจะมี ลำพึง กลมกูล, กำลังยิ้ม, กำลังยืน, ภูเขา, ท้องฟ้า, สถานที่กลางแจ้ง และธรรมชาติในภาพอาจจะมี ลำพึง กลมกูล, กำลังยิ้ม, สถานที่กลางแจ้งภาพที่ 8 ภาพผู้เขียนกับประสบการณ์การท่องเที่ยวในสวิต ระหว่าง 25-30 เมษายน 2562 สู่การถอดบทเรียนการจัดการท่องเที่ยวสู่ประเทศไทย (ภาพผู้เขียน : 30 เมษายน 2562)

ดังนั้นเมื่อเดินทางจึงสะท้อนคิดสิ่งที่เห็นกับแนวทางสะท้อนคิด ถอดบทเรียน และเสนอแนวทางเพื่อนำไปเป็นกลไกการปฏิบัติ สู่การพัฒนาประเทศชาติในความหลากหลาย ทั้งเศรษฐกิจ การท่องเที่ยว การศาสนา และการพัฒนาคุณาภาพชีวิต และความสัมพันธ์ระหว่างประเทศระหว่างไทยและสวิตได้เช่นกัน

สรุป

การเดินทางสวิตเซอแลนด์เพื่อไปร่วมเสนองานสัมมนา ระหว่าง 25-30 เมษายน 2562 ในฐานะบุคคลากรของศูนย์อาเซียน จึงได้บันทึกในแบบสะท้อนคิด จากการเดินทางในพื้นที่ประเทศสวิตเซอแลนด์ จึงได้ทำการบันทึกเล่าเรื่องพร้อมเสริมข้อมูลเกี่ยวกับการจัดการท่องเที่ยว กิจการพระพุทธศาสนาในฐานะที่วัดและกิจการพระพุทธศาสนามีความโดดเด่นและเป็นที่ยอมรับของประชาคมชาวสวิตเอง และที่สำคัญยังเป็นดินแดนที่เกี่ยวกับประวัติและพัฒนาการของราชวงศ์ไทย จึงได้บันทึกเล่าเรื่องเพื่อสะท้อนให้เห็นถึงความสัมพันธ์ของช่วงเวลาเพื่อนำมาแบ่งปันว่า การเดินทางสารคดีท่องเที่ยว เป็นอีกแบบหนึ่งของการเดินทางที่เต็มไปด้วยการเรียนรู้ภายใต้แนวคิด “เดินทางหมื่นลี้ อ่านหนังสือหมื่นเล่ม” หรือ “ร้อยรู้ ไม่เท่าหนึ่งลงมือปฏิบัติ” การเดินทางจึงเป็นประสบการณ์ที่สำคัญ  ซึ่งพบว่าในการเดินทางไกลนั้น ทำให้ได้ทักษะการเรียนรู้เชิงพื้นที่ในแบบวิจัย ที่เรียกว่า “อาณาบริเวณศึกษา” (Area Studies) ที่มีส่วนอย่างสำคัญของการได้มาซึ่งความรู้ในเชิงพื้นที่สู่การพัฒนาเป็นทฤษฎีฐานรากได้ (Grounded Theory) ดังนั้นการจัดการท่องเที่ยวสามารถนำมาเป็นบทเรียนสำหรับประเทศไทยได้ว่าประเทศเล็ก มีพื้นที่ และประชากร  แต่รายได้จากอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวกับสามารถทำให้คนในประเทศมีคุณภาพชีวิตที่ดี คนต้องทำอย่างไร พื้นที่แหล่งท่องเที่ยวต้องทำอย่างไร รวมไปถึงการจัดการในองค์รวมต้องทำอย่างไร จะเห็นและถอดบทเรียนจากประเทศสวิตได้ ในส่วนของพระพุทธศาสนาจะมีแนวทางอย่างไรในการส่งเสริมให้เป็นวาระแห่งสังคมสู่สังคมประชาชาติเพื่อจะส่งเสริมสันติภาพ สู่ต้นแบบของการอยู่ร่วมกันอย่างสันติในชุมชนนานาชาติแบบศาสนา เอื้ออาทร สันติ ไม่ใช้ความรุนแรง สวิตอาจเป็นตัวอย่างหนึ่งของชุมชนชาวไทยพุทธ ที่ดูเป็นมิตรกับชุมชนรอบข้าง ซึ่งสามารถเป็นตัวอย่าง ให้ศึกษา นำไปประยุกต์ เพื่อที่จะขยับก้าวงานพระธรรมทูตและงานพระพุทธศาสนาในระดับนานาชาติ หรือกรณีศึกษาความสัมพันธ์ระหว่างประเทศของไทยกับสวิตผ่านสถาบันกษัตริย์นับแต่การเสด็จประพาสของพระเจ้าอยุ่หัวรัชกาลที่ 5 และการอยู่อาศัยพำนักในประเทศสวิตยุวกษัตริย์ของราชวงศ์ไทย ที่เป็นทั้งความสัมพันธ์ และสถาบันการเรียนรู้ พัฒนา และขัดเกลา จนกระทั่งนำมาเป็นฐานในการบริหารประเทศชาติและบ้านเมืองในพระราชกรณียกิจของราชวงศ์ไทยในรอบร้อยกวาปีที่ผ่าน ซึ่งผู้เขียนได้นำมาบันทึกเล่าสะท้อนคิดแบ่งปันให้เห็นถึงความเชื่อมโยงจากการเดินทางในสวิตเซอแลนด์ ระหว่าง 25-30 เมษายน 2562 ดังปรากฏ

 กิตติกรรมประกาศ

กราบขอบพระคุณพระราชวรเมธี,รศ.ดร. ในฐานะหัวหน้าโครงการวิจัย  “รูปแบบการจัดการเรียนรู้ข้ามวัฒนธรรมอาเซียนในกลุ่มประเทศ CLMV สำหรับนิสิตมหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย-An Instructional Model of ASEAN Cross Cultural Learning of CLMV Students in Mahachulalongkornrajavidyala University” ทุนวิจัยมุ่งเป้าจากคณะกรรมการวิจัยแห่งชาติ 2560 ที่มอบหมายให้ผู้เขียนได้นำผลการวิจัย  เข้าร่วมนำเสนอในงานสัมนาระดับนานาชาติที่ประเทศสวิตเซอแลนด์ (International Conference on “MULTIDISCIPLINARY INNOVATION in ACADEMIC RESEARCH” (MIAR-19) in Zurich, Switzerland ,27-28th Apr 2019) และเยอรมนี (“International Social Sciences and Humanities Berlin Conference” in Berlin,Germany,2-5 May 2019)

กราบขอบพระคุณพระศรีธวัชเมธี (ป.ธ.9) ผู้อำนวยการศูนย์อาเซียนศึกษา ที่อนุมัติให้ผู้เขียนในนามบุคลากรศูนย์อาเซียนศึกษา ได้เดินทางเพื่อพัฒนาตนเอง นำเสนอ เผยแผ่ผลงานในนามมหาวิทยาลัยในระดับนานาชาติ ระหว่าง 24 เมษายน–6 พฤษภาคม 2562 กราบขอบพระคุณพระเทพกิตติโมลี,ดร. (เจ้าอาวาสวัดศรีนครินทรวราราม)  และพระมหาสิทธิชัย พระธรรมทูตวัดไทย ที่สนับสนุนข้อมูล การให้สัมภาษณ์ และให้ญาติธรรมนำทัศนะศึกษาในพื้นที่เพื่อการเขียนบทบันทึกนี้

 

เอกสารอ้างอิง

กัลยาณิวัฒนา, กรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์, สมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอ เจ้าฟ้า. (2525). แม่เล่าให้ฟัง. พิมพ์ครั้งที่ 6 (แก้ไขและเพิ่มเติม). กรุงเทพฯ : กระทรวงศึกษาธิการ.

กัลยาณิวัฒนา, กรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์, สมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอ เจ้าฟ้า. (2530). เจ้านายเล็กๆ- ยุวกษัตริย์. พิมพ์ครั้งที่ 6 (แก้ไขและเพิ่มเติม). กรุงเทพฯ : ด่านสุทธาการพิมพ์.

พระราชกิตติโมลี. (2540). ชุมชนและวัดไทยในต่างแดน.วารสารสหภาพพระธรรมทูตไทยในทวีปยุโรป 1 (1) กุมภาพันธ์ 2541 : 15-45.

ณัฐ อมรภิญโญ (2019). Book Reviews : “Transforming Tourism: Tourism in the 2030 Agenda” พัฒนาการเศรษฐกิจปริทรรศน์. 13 (1)  (2019) : 103-110.

นพวรรณ ฉิมรอยลาภ. (2549). “การพัฒนาภาษาอังกฤษหลักสูตรเร่งรัดสำหรับพระธรรมทูตสายต่างประเทศโดยการสอนแบบเน้นการปฏิบัติงาน”.ดุษฎีนิพนธ์ศิลปศาสตรดุษฎีบัณฑิต (สาขาวิชาภาษาอังกฤษเป็นภาษานานาชาติ). บัณฑิตวิทยาลัย : จุฬาลงกรณมหาวิทยาลัย.

ธนวิทย์ สิงหเสนี.  (2552).“บทบาทของกระทรวงการต่างประเทศกับการส่งเสริมการเผยแผ่พระพุทธศาสนาในต่างประเทศ  รายงานการศึกษาส่วนบุคคล (หลักสูตรนักบริหารการทูต รุ่นที่ 1) สถาบันการต่างประเทศเทวะวงศวโรปการ กระทรวงการต่างประเทศ. ออนไลน์ :  http://www.mfa.go.th/dvifa/contents/filemanager/files/nbt/nbt1/IS1016.pdf

พระมหาสุริยา วรเมธี. (2558).  สำรวจการเผยแผ่พระพุทธศาสนาของพระธรรมทูตไทยในสหรัฐอเมริกา.วารสาร มจร มนุษย์ศาสตปริทรรศน์ . 1 (1) (มกราคม-มิถุนายน 2558)  : 67-72.

พระปรีชา พงษ์พัฒนะ.(2544). “การติดตามและประเมินผลโครงการอบรมพระธรรมทูตสายต่างประเทศ ศึกษาเฉพาะ : พระธรรมทูตไทยในสหรัฐอเมริกา”, วิทยานิพนธ์สังคมสงเคราะห์ศาสตร์ . คณะสังคมสงเคราะห์ : มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์.

พระครูปลัดสุวัฒนวชิรคุณ และคณะ (2552) ศึกษาวิเคราะห์ยุทธศาสตร์หลักในการเผยแผ่พระพุทธศาสนา          ของพระธรรมทูตไทยในอินเดีย”. รายงานการวิจัย. สถาบันวิจัยพุทธศาสตร์ : มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย.

พระมหากฤตภาส สุขัง. (2556).“บทบาทเจ้าอาวาสในการบริหารจัดการวัดไทยในสแกนดิเนเวีย-The Abbots Role in the Thai Temple Administration and Management in Scandinavia”.วิทยานิพนธ์ศึกษาศาสตรมหาบัณฑิต (สาขาการบริหารการศึกษาและผู้นำทางการศึกษา). บัณฑิตวิทยาลัย : มหาวิทยาลัยสยาม.

พระทินวัฒน์ สุขสง. (2558). แนวทางการเผยแผ่พระพุทธศาสนาในโลกตะวันตก. วิทยานิพนธ์ศิลปศาสตรมหา      บัณฑิต (สาขาวิชาพุทธศาสนศึกษา).  ภาควิชาปรัชญา คณะศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์.

พระธรรมปิฎก (ป.อ.ปยุตฺโต). (2543). พระธรรมทูตไทย เบิกทางสู่อารยธรรมใหม่. กรุงเทพ ฯ : บริษัท ธรรมสาร จำกัด.

รังสฤษฎิ์ บุญชะลอ. (2542). พระราชประวัติและพระราชกรณียกิจ รัชกาลที่ 9 (72 พรรษามหาราช).ปทุมธานี : สกายบุ๊กส์.

วิภา วังศิริกุล และคณะ. (2556). “การศึกษาดูงานของมหาวิทยาลัยนราธิวาสราชนครินทร์ณ สมาพันธรัฐสวิต– สหพันธสาธารณรัฐเยอรมนี”.วารสารมหาวิทยาลัยนราธิวาสราชนครินทร์. 5 (3), (กันยายน-ธันวาคม 2556) : 162-166.

สมชาย เสริมแก้ว. (2549). คุณลักษณะและกระบวนการปลูกฝังคุณธรรมจริยธรรมของประเทศสวิตเซอร์แลนด์. กรุงเทพ ฯ : ศูนย์คุณธรรม.

สุรเกียรติ ธาดาวัฒนาวิทย์. (2017) .“การศึกษาเปรียบเทียบการจัดการศึกษาของสถาบันอุดมศึกษาด้านอุตสาหกรรมบริการ :  กรณีศึกษาประเทศสวิตเซอร์แลนด์และประเทศไทย”. วารสารวิทยาลัยดุสิตธานี. 12 (1) (มกราคม-เมษายน 2561)  : 332-349.

ศ.ดร.สมภาร ฝาก ‘ท่าน ว.’ ศึกษาให้มากก่อนพูด นักวิชาการขุดข้อมูลปม ‘ไอน์สไตน์’ ชูพุทธศาสนา ยันไม่จริง!. ออนไลน์ :  https://www.matichon.co.th/education/religious-cultural/news_1273710 วันที่ 15 ธันวาคม 2561

Baumann, Martin (2000). “Buddhism in Switzerland”, Journal of Global Buddhism 1, 154-159.

Cecilia Matasci, Juan‐Carlos Altamirano‐Cabrera. Climate Change and Tourism in Switzerland      : a Survey on Impacts, Vulnerability and Possible Adaptation Measures 1 Research

group on the Economics and Management of the Environment ­ Swiss Federal   Institute of Technology Lausanne, CH­1015 Lausanne, Switzerland

https://infoscience.epfl.ch/record/150406/files/NCCRWorkingPaper_Matasci_SurveyClimateChangeAndTourism.pdf%20(2)%20(1).pdf

Klaus Weiermair. Thomas Bieger. (20..) Tourism Education in Austria and Switzerland: Past         Problems and Future Challenges. Center for Tourism and Service Economics, University of Innsbruck, Austria/ Institute for Public Services and Tourism, University  of St. Gallen, Switzerland

Katarzyna Klimek. (2014). State Tourism Policies in Switzerland and Good Practices for Polish Tourism. Instituteof Tourism, University of Applied Science of Western Switzerland (HES-SO Valais).https://www.academia.edu/16874307/STATE_TOURISM_POLICIES_IN_SWITZERLAND_AND_SELECTED_GOOD_PRACTICES_FOR_POLISH_TOURISM

Weigelt, Frank-André (2009). “Dokumentation: Buddhismus in der Schweiz. Eine Kurzdarstellung”, Schweizerische Kirchenzeitung 45, 774-778.

25 years anniversary of International Buddhist Temple | Geneva | SWITZERLAND          Ven.Dhammika Abbot of Center Buddhiste Internation De Geneve         https://www.youtube.com/watch?v=aNwLYLbPd3Y

 

สัมภาษณ์

สัมภาษณ์, พระเทพกิตติโมลี  เจ้าอาวาสวัดศรีนครินทรวราราม ซูริก สวิตเซอร์แลนด์ 30 เมษายน 2562

สัมภาษณ์, พระมหาสุทธิชัย สุทธิชโช พระธรรมทูตวัดศรีนครินทรวราราม ซูริก สวิตเซอร์แลนด์ 30 เมษายน 2562

สัมภาษณ์, คุณจุฑามาศ ทายิกาวัดศรีนครินทรวราราม ซูริก สวิตเซอร์แลนด์ 30 เมษายน 2562

สัมภาษณ์, คุณสิริพร  ทายิกาวัดศรีนครินทรวราราม ซูริก สวิตเซอร์แลนด์ 30 เมษายน 2562

 

Click เพื่ออ่าน ฉบับ PDF บันทึกเรื่องเล่าที่สวิตเซอร์แลนด์ : การจัดการท่องเที่ยว พระพุทธศาสนา และเจ้าฟ้าจากประเทศไทยTraveling Record in Switzerland  : Tourist Management, Buddhism and Royal Family from Thailand

ทิ้งคำตอบไว้

Please enter your comment!
Please enter your name here